Abstract:
เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ถดถอยส่งผลให้อุตสาหกรรมแฟชั่นได้รับผลกระทบ แต่ในทางตรงกันข้ามประเทศตะวันออกกลางกลับได้รับผลกระทบน้อยมาก จึงเป็นโอกาสหากผู้ประกอบการส่งออกแฟชั่นในไทยจะเข้าไปมีบทบาทในตลาดนี้ ขณะเดียวกันประเทศคูเวตซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่น่าลงทุนทั้งทางด้านเศรษฐกิจรวมทั้งการให้อิสระเสรีกับสุภาพสตรีมากกว่ากลุ่มประเทศอื่น ๆ ทำให้บทบาทของสตรีคูเวตเปลี่ยนไปจนได้รับขนานนามว่าเป็นผู้หญิงที่มีความทันสมัยและมีความเป็นแฟชั่นสูง โดยการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเกี่ยวกับการศึกษากลุ่มเป้าหมายสตรีคูเวต รวมทั้งการศึกษารูปแบบเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงเพื่อวิเคราะห์ให้เกิดตราสินค้าใหม่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหารูปแบบเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงให้เหมาะสมกับสตรีคูเวต ศึกษาตลาดและช่องว่างทางการตลาดในการสร้างตราสินค้า ศึกษากลุ่มเป้าหมายและความต้องการเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงของสตรีคูเวต รวมทั้งเพื่อนำเสนอแนวทางการออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงที่ผสมผสานทุนวัฒนธรรม โดยมีวิธีการดำเนินวิจัย 6 ช่วง ได้แก่ 1) การศึกษาสำรวจและรวบรวมข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง 2) การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย 3) การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดด้วยวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลด้านปริมาณ 4) การวิเคราะห์ข้อมูลด้านคุณภาพเพื่อกำหนดจุดยืนและอัตลักษณ์ของสินค้า 5) การวิเคราะห์ข้อมูลด้านคุณภาพเพื่อสร้างสรรค์ผลงานต้นแบบและสรุปผลการวิจัย และ 6) การสรุปและการอภิปรายผล ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้มีการใช้รูปแบบเค้าโครงจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในยุควิคตอเรียนผสมผสานเค้าโครงอาวองการ์ดในยุคศิลปะเค้าโครง อีกทั้งยังมีการใช้วัสดุที่เป็นทุนวัฒนธรรมของไทยด้วยการใช้ผ้าไหมมัดหมี่ซึ่งเป็นวัสดุที่มีกรรมวิธีที่ใช้ภูมิปัญญาให้เกิดเอกลักษณ์ ซึ่งมีผลการศึกษาและวิจัยพบว่ากลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มสตรีผู้มีชื่อเสียงและผู้นำชาวคูเวต ซึ่งต้องการเอกลักษณ์การแต่งกายที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์และล้ำสมัย ขณะเดียวกันการสร้างตราสินค้าก็เป็นสินค้าแฟชั่นชั้นสูงเพื่อให้ตอบสนองความเป็นเอกลักษณ์และเหมาะสมกับผู้สวมใส่ โดยมีการผสมผสานทุนวัฒนธรรมด้วยการใช้ผ้าไหมมัดหมี่ซึ่งเป็นวัสดุที่มีการใช้สำหรับเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงและเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตราสินค้าแฟชั่นชั้นสูงในประเทศไทยอีกด้วย