Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาคำวิจารณ์คุณสมบัติการเป็นนาฏยศิลปินของนราพงษ์ จรัสศรี ที่เป็นลายลักษณ์อักษรตามที่ได้ลงทะเบียนไว้กับสมาพันธ์นักแสดงของสหราชอาณาจักร (Actor's equity members) ทั้งสิ้น 15 คำวิจารณ์ และคำวิจารณ์จากนักวิจารณ์ ผู้ที่เคยร่วมงานและศิษย์ของนราพงษ์ จรัสศรี ในประเทศไทย ทั้งสิ้น 21 คำวิจารณ์ จากนั้นนำข้อมูลคำวิจารณ์ดังกล่าวมาสร้างสรรค์เป็นผลงานนาฏยศิลป์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหารูปแบบและแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากคำวิจารณ์คุณสมบัติการเป็นนาฏยศิลปินของนราพงษ์ จรัสศรี โดยใช้รูปแบบงานวิจัยเชิงคุณภาพและงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ที่มีการศึกษาข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหัวข้องานวิจัย
การสัมภาษณ์ สื่อสารสนเทศ การสังเกตการณ์ การสัมมนาวิชาการ เกณฑ์การสร้างมาตรฐานในการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย มาเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ สังเคราะห์และสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์
ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบของนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 8 องค์ประกอบการแสดง ได้แก่ 1) บทการแสดง
ที่ได้มาจากคำวิจารณ์คุณสมบัติการเป็นนาฏยศิลปินของนราพงษ์ จรัสศรี ซึ่งแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ได้ 6 คุณสมบัติ ตามชื่อองก์การแสดงทั้งหมด 6 องก์ ได้แก่ องก์ 1 ลึกลับ องก์ 2 หลงใหล องก์ 3 แปลก องก์ 4 ตะวันออกและตะวันตก องก์ 5 สรีระและองก์ 6 คุณธรรม 2) นักแสดงไม่จำกัดเพศที่มีทักษะความสามารถทางด้านนาฏยศิลป์ตะวันออก นาฏยศิลป์ตะวันตก นาฏยศิลป์ร่วมสมัยและนักแสดงที่ไม่ได้รับการฝึกฝนทางด้านนาฏยศิลป์ (Untrained Dancer) 3) ลีลานาฏยศิลป์ ใช้ลีลาการเคลื่อนไหวแบบมินิมอลลิสม์ (Minimalism) การเคลื่อนไหวแบบในชีวิตประจำวัน (Everyday Movement) การเคลื่อนไหวอย่างมีอิสระ (Free Spirit) ลีลานาฏยศิลป์ตะวันออก ลีลานาฏยศิลป์ตะวันตกและลีลาการเคลื่อนไหวแบบสงบนิ่งหรือแบบการทำสมาธิ (Meditation) 4) เสียงและดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ใช้เครื่องดนตรีตะวันออกที่มาจากหลายวัฒนธรรม 5) อุปกรณ์ประกอบการแสดง ออกแบบโดยคำถึงถึงบทการแสดงและความหมายของการแสดงในแต่ละองก์
6) เครื่องแต่งกาย ใช้ในรูปแบบมินิมอลลิสม์ (Minimalism) 7) พื้นที่การแสดง ใช้โรงละครในลักษณะ แบล็ค บ๊อกซ์ เธียเตอร์ (Black Box Theatre) และใช้ผ้าสักหลาดขนาดความกว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร ซึ่งสามารถยกและเคลื่อนย้ายที่ได้มาใช้เป็นพื้นที่แสดง 8) แสง ใช้แสงที่
สื่อถึงอารมณ์ตามที่ผู้วิจัยกำหนดสีของแสงไว้ในแต่ละองก์ นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้คำนึงถึงแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากคำวิจารณ์คุณสมบัติการเป็นนาฏยศิลปินของนราพงษ์ จรัสศรี ทั้ง 6 ประการ ได้แก่ 1) คำวิจารณ์คุณสมบัติการเป็นนาฏยศิลปินของ
นราพงษ์ จรัสศรี 2) ผู้ชม 3) ความคิดสร้างสรรค์ทางด้านนาฏยศิลป์ 4) ความหลากหลายของรูปแบบการแสดง 5) การใช้สัญลักษณ์ในผลงานนาฏยศิลป์ และ 6) แนวคิดทางด้านทัศนศิลป์ นาฏยศิลป์และดุริยางคศิลป์ ซึ่งผลการวิจัยทั้งหมดนี้มีความสอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกประการ