Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาความไม่สมบูรณ์ในกระบวนการคัดเลือกศิลปินระดับชาติทางด้านนาฏยศิลป์และนำข้อมูลมาสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหารูปแบบและแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ โดยใช้รูปแบบงานวิจัยเชิงคุณภาพและงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ที่มีการศึกษาข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ การสัมมนา สื่อสารสนเทศ เกณฑ์การสร้างมาตรฐานการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์ และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย ซึ่งนำข้อมูลมาตรวจสอบ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์
ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบของนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ในครั้งนี้สามารถจำแนกตามองค์ประกอบของนาฏยศิลป์ 8 องค์ประกอบได้แก่ 1) บทการแสดง โดยแบ่งเป็น 7 องก์การแสดงตามเกณฑ์มาตรฐานยกย่องศิลปิน ฯ มาจัดหมวดหมู่ใหม่ 2) นักแสดง มีทักษะด้านนาฏยศิลป์ไทย นาฏยศิลป์ตะวันตก บัลเลต์คลาสสิค และทักษะศิลปะละคร จำนวน 12 คน 3) ลีลานาฏยศิลป์ ใช้ลีลาการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน นาฏยศิลป์สมัยใหม่ การเคลื่อนไหวบัลเลต์คลาสสิค การใช้ศิลปะการละครรูปแบบนาฏยศิลป์การแสดง 4) การออกแบบอุปกรณ์ประกอบการแสดง การใช้อุปกรณ์ชีวิตประจำวัน ได้แก่ ถ้วยรางวัล แฟ้มสีดำ ผ้าสีขาว พู่กัน ไฟฉาย และถุงมือ 5) การออกแบบเสียงและเครื่องดนตรี ใช้เครื่องดนตรีที่หลากหลายในการบรรเลงดนตรี ได้แก่ โทน กู่เจิง จะเข้ ซออู้ โปงลาง และรำมะนาลำตัด 6) การออกแบบเครื่องแต่งกาย ใช้เครื่องแต่งกายแบบสากลนิยม การใช้ผ้าที่บางเพื่อสะท้อนถึงความโปร่งใสของกระบวนการ 7) การออกแบบพื้นที่การแสดง ใช้โรงละคร แบล็ค บ๊อกซ์ เธียเตอร์ (Black Box Theatre) ที่มีลักษณะสี่เหลี่ยม 8) การออกแบบแสง ใช้แสงสื่อถึงบรรยากาศ เช่น แสงสีแดงแสดงถึงความวิกฤตของศิลปิน นอกจากนี้มีแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์ผลงาน โดยคำนึงถึงแนวคิดที่สำคัญ 7 ประการ ได้แก่ 1) การคำนึงถึงความไม่สมบูรณ์ในกระบวนการคัดเลือกศิลปิน 2) การคำนึงถึงการสะท้อนสภาพของสังคม 3) การคำนึงถึงการสื่อสารกับผู้ชมและคนในสังคม 4) การคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ในงานนาฏยศิลป์ 5) การคำนึงถึงการใช้สัญลักษณ์ในการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ 6) การคำนึงถึงความหลากหลายของรูปแบบการแสดง 7) การคำนึงถึงทฤษฎีนาฏยศิลป์ ดุริยางคศิลป์และทัศนศิลป์ ซึ่งผลการวิจัยทั้งหมดนี้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทุกประการทั้งนี้การวิจัยในครั้งนี้เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ทางด้านนาฏยศิลป์เชื่อมโยงประสบการณ์และพัฒนากระบวนการสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อวงการวิชาการและวงการนาฏยศิลป์ ตลอดจนเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานของผู้สร้างสรรค์ผลงานในอนาคต