Abstract:
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีแนวทางมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นเหตุผลประการหนึ่งในการเข้าร่วมการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวของ UI Green Metric ซึ่งคะแนนในปี 2559 ได้คะแนนรวมจากทุกด้านคิดเป็นร้อยละ 33.51 ของคะแนนทั้งหมด จึงต้องทราบถึงศักยภาพและข้อจำกัดของมหาวิทยาลัยในการก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวในอันดับต้น ๆ ของประเทศและมีคะแนนการจัดอันดับที่สูงขึ้น การศึกษาครั้งนี้เพื่อหาแนวทางการปรับปรุงกายภาพภายนอกอาคารของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งใช้เกณฑ์การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว 5 ด้าน คือ 1) การวางโครงสร้างพื้นฐาน 2) การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 3) การจัดการของเสีย 4) การจัดการน้ำ และ 5) การสัญจรขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการทบทวนวรรณกรรม ใช้เครื่องมือการสำรวจและสัมภาษณ์ โดยสัมภาษณ์ผู้บริหารด้านกายภาพของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หัวหน้าโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียวและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพและข้อจำกัดตลอดจนข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงกายภาพภายนอกอาคาร
ผลการศึกษาสามารถสรุปผลจากการทบทวนวรรณกรรม การสำรวจและการสัมภาษณ์ ได้ว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีการดำเนินงานตามเกณฑ์มหาวิทยาลัยสีเขียวโดยมี 2 ด้านที่มีศักยภาพคะแนนค่อนข้างเป็นไปตามเป้าหมาย คือ 1) ด้านการวางโครงสร้างพื้นฐาน และ 2) ด้านการจัดการน้ำ ส่วนด้านที่ยังไม่เป็นตามเป้าหมายควรปรับปรุงเป็นอันดับแรก ได้แก่ 1) ด้านการจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 2) ด้านการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3) ด้านการจัดการของเสีย