Abstract:
ไม้ประกับกาวเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเพื่อทดแทนความต้องการไม้หน้ากว้าง ซึ่งมีจำนวนทรัพยากรลดน้อยลง ประเทศไทยยังคงมีการพัฒนาไม้ประกับกาวในรูปแบบ “Glued laminated timber” ตั้งแต่ ค.ศ.1971 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการนำไม้มาเรียงต่อกันเป็นชั้นในทิศทางเดียว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความแข็งแรงในการนำมาใช้เป็นโครงสร้าง นอกจากทรัพยากรไม้ในพื้นที่ป่าเบญจพรรณในประเทศไทย ยังมี “ไผ่” ซึ่งถือวัสดุทางเลือกที่คนให้ความสนใจในหลายมิติ การนำไผ่มาใช้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพความแข็งแรงของไม้ประกับกาว รวมถึงเป็นการทดแทนอัตราการใช้ไม้ในระบบป่าอุตสาหกรรมให้เกิดความเพียงพอต่อจำนวนทรัพยากรในประเทศไทย
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาคุณสมบัติเชิงกลของวัสดุผสมไม้ไผ่ประกับกาวและไม้ยางพารา ขนาด 2x4 นิ้ว 2) เพื่อสร้างต้นแบบวัสดุผสมไม้ไผ่ประกับกาวและไม้ยางพารา ขนาด 2x4 นิ้ว 3) เพื่อสรุปแนวทางมาตรฐานวัสดุผสมไม้ไผ่ประกับกาวและไม้ยางพารา ขนาด 2x4 นิ้ว ซึ่งมีกระบวนการวิจัยดังนี้ 1) ศึกษาพัฒนาการไม้ประกับกาว และไม้อัดประสาน ในระดับนานาชาติ และในประเทศไทย 2) ศึกษาคุณสมบัติเชิงกลของไม้ไผ่ประกับกาวและไม้ยางพาราวัสดุผสม สำหรับหน่วยพักอาศัยด้วยวิธีการทดสอบในห้องทดลอง และกระบวนการวิเคราะห์ “Finite elements analysis” 3) ประยุกต์ใช้วัสดุผสมไม้ไผ่และไม้ยางพาราประกับกาว 2x4 นิ้ว เป็นต้นแบบโครงสร้างใหม่สำหรับหน่วยพักอาศัย แบบ 1 ชั้น ขนาดพื้นที่ 24 ตารางเมตร หน้ากว้างอาคาร 5.00 เมตร ลึก 4.80 เมตร
จากการศึกษาพบว่าวัสดุผสมไม้ไผ่ประกับกาวและไม้ยางพารา ขนาด 2x4 นิ้ว สามารถใช้เป็นโครงสร้างทดแทนไม้ยางพาราประกับกาวขนาด 2x6 นิ้ว ในรูปแบบการก่อสร้างแบบเดิม ในส่วนของตงพื้น แม้ว่าคุณสมบัติของไม้ยางพาราจะมีระยะยุบตัวน้อยกว่าวัสดุผสมไม้ไผ่ประกับกาวและไม้ยางพารา 0.33141 mm. หรือคิดเป็น 27.96 % รูปแบบวัสดุผสมไม้ไผ่และไม้ยางพาราประกับกาวที่สอดคล้องกับระบบอุตสาหกรรมไม้ในประเทศไทย
การก่อสร้างหน่วยพักอาศัยด้วยวัสดุผสมไม้ไผ่และไม้ยางพาราประกับกาวพบว่ารูปแบบโครงสร้างที่ใช้วัสดุผสมไม้ไผ่และไม้ยางพาราประกับกาว สามารถลดส่วนประกอบของอาคารได้แก่ การใช้ผนังรับน้ำหนักแทนเสา การลดส่วนประกอบของหลังคาในขณะที่ยังสามารถสนับสนุนการรับน้ำหนักวัสดุมุงหลังคาได้ รูปแบบโครงสร้างวัสดุผสมไม้ไผ่และไม้ยางพาราประกับกาวสำหรับหน่วยพักอาศัย ยังสามารถลดปริมาณไม้จากที่ใช้ไม้คิดเป็นปริมาตรไม้จาก 72.44 ลูกบาศก์ฟุต เหลือเพียง 46.40 ลูกบาศก์ฟุต และลดระยะเวลาในการก่อสร้างหน่วยพักอาศัยได้ 20% เมื่อเทียบกับรูปแบบการก่อสร้างแบบเดิม