Abstract:
งานวิจัยนี้เพื่อวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาเทคโนโลยีและระบบการปลูกผักไร้สารพิษที่ใช้พลังงานทดแทน 2) เพื่อศึกษาการออกแบบพื้นที่สำหรับปลูกผักไร้สารพิษให้เหมาะสมกับพื้นที่ในอาคารพาณิชย์หรือทาวน์เฮาส์ และ 3) เพื่อศึกษาผลที่ได้จากการปลูกผักไร้สารพิษทั้งจากแปลงที่ใช้พลังงานทดแทนจากแผงโซล่าเซลล์ และแปลงที่ไม่ใช้พลังงานทดแทนจากแผงโซล่าเซลล์ หน่วยวิเคราะห์ในงานวิจัยครั้งนี้ คือ ต้นผักกรีนโอ้ค จำนวน 60 ต้น แบ่งเป็น 2 แปลง คือ แปลงที่ใช้แผงโซล่าเซลล์ และแปลงที่ไม่ใช้แผงโซล่าเซลล์ แปลงละ 30 ต้น แปลงผักตั้งอยู่บนอาคารพาณิชย์ ณ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ผู้วิจัยเก็บผลการปลูกเป็นเวลา 45 วัน โดยเก็บสภาพภูมิอากาศทั่วไป ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณแสงแดด และความเร็วลม พบว่า สภาพภูมิอากาศทั่วไปของแปลงทั้งสองแตกต่างกัน จึงนำมาเป็นตัวแปรร่วม (covariate variable) ในการวิเคราะห์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ประกอบด้วย การวิเคราะห์เนื้อหา และการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วมแบบพหุ (MANCOVA) ผลการวิจัยพบว่า แปลงผักถูกออกแบบให้สามารถตั้งอยู่บนพื้นที่จำกัดเช่นกัน คือ บ้านพักอาศัยและสถานที่ทำงานบนอาคารพาณิชย์ แปลงผักทั้งสองแปลงถูกออกแบบให้มีปัจจัยในการเจริญเติบโตของพืชครบถ้วน 4 องค์ประกอบ ได้แก่ อากาศ น้ำ ธาตุอาหาร และที่ค้ำจุนลำต้น นอกจากนี้ แปลงผักทั้งสองยังถูกออกแบบให้เป็นการปลูกพืชในน้ำแบบน้ำไหล โดยใช้ท่อพลาสติกให้เป็นรางน้ำอยู่ด้านบน และมีถังพักน้ำ ซึ่งมีปั้มน้ำอยู่ด้านในถังน้ำเพื่อให้เกิดการไหลเวียนของน้ำ แปลงทั้งสองแตกต่างกันเพียงแปลงที่ 1 ได้เชื่อมต่อแผงโซล่าเซลล์ ส่วนแปลงที่ 2 ใช้พลังงานไฟฟ้าจากอาคารตามปกติ นอกจากนี้ แปลงผักทั้งสองยังถูกออกแบบให้มีความสวยงามเพื่อเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจได้อีกด้วย ผลที่ได้จากการปลูกผักพบว่า การใช้แผงโซล่าเซลล์ของแปลงที่ 1 มีระยะเวลาคืนทุน 9 เดือน แปลงที่ 1 ได้ผลผลิต 3.2 กิโลกรัม ใช้เวลาในการปลูกและพลังงานไฟฟ้าน้อยกว่าแปลงที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และแปลงที่ 2 ได้ผลผลิต 2.7 กิโลกรัม ส่วนปริมาณปุ๋ยและปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชไม่แตกต่างกัน