Abstract:
การพัฒนากายภาพของเมืองในประเทศไทยส่งผลให้เกิดเกาะความร้อนเมือง การศึกษานี้ใช้พื้นที่ตำบลรังสิต ตำบลคลองห้า และตำบลคลองหก จังหวัดปทุมธานีซึ่งมีการพัฒนาด้านกายภาพจากพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่เมืองหนาแน่นในระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ถึง 2562 ตัวแปรที่มีอิทธิพลประกอบด้วย พื้นที่สีเขียว พื้นที่อาคารและสิ่งปลูกสร้าง ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า และปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากการจราจรขนส่ง
ผลการวิจัยพบว่า พื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลเกิดความร้อนประมาณ 80 78 28 ล้านล้านบีทียู ตามลำดับแหล่งความร้อนสูงสุดจากธรรมชาติคือ แสงอาทิตย์ แหล่งความร้อนจากการพัฒนาเมืองคือ การใช้กระแสไฟฟ้า การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง และพื้นที่อาคารสิ่งปลูกสร้าง เมื่อพื้นที่สีเขียวลดลงและในขณะเดียวกันเปลี่ยนเป็นอาคารสิ่งปลูกสร้าง ทำให้เกิดการสะสมความร้อนจากแสงอาทิตย์และสะสม ประกอบกับปัจจัยแหล่งความร้อนภายนอกเพิ่มเติม ได้แก่ พลังงานความร้อนจากไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการจราจรขนส่ง ทำให้อุณหภูมิอากาศในเมืองสูงขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ปี 2552 และ ปี 2562 มีอุณหภูมิอากาศสูงขึ้น 0.45 0.55 และ 0.8 องศาเซลเซียสตามลำดับ
การบรรเทาสภาวะเกาะความร้อนเมืองมีปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้อง 4 ประการ ได้แก่ 1) การลดพื้นที่อาคารและสิ่งปลูกสร้าง 2) การลดปริมาณการใช้พลังงานโดยใช้อุปกรณ์และรูปแบบการอาคารแบบประหยัดพลังงาน 3) การใช้แหล่งพลังงานในการจราจรขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูง และลดปริมาณความร้อน 4) การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์