Abstract:
กรุงเทพมหานครมีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมหลายประการจากการขยายตัวของเมือง ทำให้พื้นที่สีเขียวในเมืองลดลง ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศของเมือง และสุขภาวะของประชากรที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร จากปัญหาทำให้ทางกรุงเทพมหานครได้มีการจัดทำแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556 – 2575) ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะไม่น้อยกว่า 9 ตารางเมตรต่อคน และพื้นที่สีเขียวมีการกระจายครอบคลุมไปทั่วพื้นที่ จากข้อมูลสถิติ 2559 กรุงเทพมหานคร พบว่ามีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะ 6.15 ตารางเมตรต่อคน โดยเขตที่มีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะน้อยที่สุดคือเขตวัฒนามี 1.51 ตารางเมตรต่อคน จึงนำมาสู่งานวิจัยเพื่อหาแนวทางในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะและเสนอการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่เดิม พื้นที่สีเขียวที่เพิ่มมาใหม่ และศูนย์รวมกิจกรรมให้เกิดเป็นโครงข่ายเส้นทางสีเขียว และเสนอแนวทางการพัฒนาเส้นทางสีเขียวในเขตวัฒนา
กระบวนการศึกษาเริ่มจากการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี กฎหมาย และนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียวและโครงข่ายเส้นทางสีเขียว รวมถึงข้อมูลพื้นที่เขตวัฒนา เพื่อกำหนดกรอบแนวความคิดในการหาพื้นที่สีเขียว การคัดเลือกพื้นที่และเส้นทางที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยง และปัจจัยที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินศักยภาพพื้นที่และเส้นทาง จากการสำรวจของผู้วิจัยด้วยเกณฑ์พิจารณาของผู้วิจัย 3 ข้อ ได้แก่ กรรมสิทธิ์ที่ดิน ระดับการใช้ประโยชน์ และขนาดพื้นที่สีเขียวหรือที่ว่าง พบพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะทั้งหมด 63 แห่ง เมื่อนำมารวมกับพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะของเขตวัฒนาปี 2562 จากการสำรวจของกรุงเทพมหานคร ที่มีจำนวน 149 แห่ง คิดเป็นอัตราส่วน 1.69 ตารางเมตรต่อคน เขตวัฒนาจะมีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะทั้งหมด 212 แห่ง คิดเป็นอัตราส่วน 3.16 ตารางเมตรต่อคน โดยปัจจัยที่ใช้พิจารณาศักยภาพพื้นที่มีทั้งหมด 6 ปัจจัย และปัจจัยที่ใช้พิจารณาศักยภาพเส้นทางมีทั้งหมด 6 ปัจจัย ผลการวิจัยพบว่ามีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงในเขตวัฒนาจำนวนทั้งหมด 170 แห่ง และมีเส้นทางสีเขียวในเขตวัฒนาจำนวนทั้งหมด 81 เส้น เป็นเส้นทางหลัก 12 เส้น และเส้นทางรอง 69 เส้น ในงานวิจัยนี้ผู้ศึกษาได้คัดเลือกเส้นทางสีเขียวมาเสนอตัวอย่างการพัฒนาทั้งหมด 5 เส้นทาง ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีรูปแบบแตกต่างกันเพื่อใช้เป็นต้นแบบให้กับเส้นทางสีเขียวอื่น ๆที่มีรูปแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน ดังนี้ แนวทางการพัฒนาเส้นทางสีเขียวมี 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางริมคลองพระโขนง เส้นทางริมถนนสุขุมวิท 39 และเส้นทางริมทางรถไฟเลียบทางพิเศษเฉลิมมหานคร แนวทางการปรับปรุงเส้นทางสีเขียวมี 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางริมถนนและทางเดินลอยฟ้าบริเวณถนนสุขุมวิท และเส้นทางริมถนนและริมน้ำซอยทองหล่อ 9