Abstract:
พลวัตน้ำหลากเป็นกระบวนการสำคัญในการขับเคลื่อนให้แม่น้ำและพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงมีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ อันทำให้มนุษย์ได้พึ่งพาอาศัยทรัพยากร ภายในภูมิทัศน์ดังกล่าว เพื่อหล่อเลี้ยงชุมชนของพวกเขา อย่างไรก็ดีการพัฒนาและการควบคุมระบบทางอุทกวิทยาของแม่น้ำในปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวนอกฤดูและการป้องกันน้ำท่วม เช่น การสร้างคันกั้นน้ำ เขื่อน และประตูระบายน้ำ ไม่ได้คำนึงถึงพลวัตน้ำหลาก ทำให้พลวัตนี้เปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อภูมิทัศน์พลวัตน้ำหลาก และการดำรงชีวิตของมนุษย์
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ในการทำความเข้าใจโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ การเปลี่ยนแปลงและพลวัตของภูมิทัศน์พลวัตน้ำหลากในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ตำบลกง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย โดยการวิเคราะห์ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และการรับรู้ระยะไกลเพื่อจำแนกโครงสร้างทางภูมินิเวศ และพลวัตน้ำหลากจากภาพดาวเทียม วิทยานิพนธ์นี้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และภูมิทัศน์พลวัตน้ำหลาก โดยการลงพื้นที่สัมภาษณ์ และได้มีการรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่ออธิบายบทบาทหน้าที่และนิเวศบริการของภูมิทัศน์พลวัตน้ำหลาก อีกทั้งสำรวจและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์โดยมนุษย์ ด้วยการเปรียบเทียบแผนที่ทางประวัติศาสตร์และแผนที่ในปัจจุบัน วิทยานิพนธ์นี้แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์พลวัตน้ำหลากโดยมนุษย์ส่งผลให้น้ำหลากลดลง ได่แก่ การสร้างคันกั้นน้ำที่ขัดขวางความต่อเนื่องระหว่างแม่น้ำและที่ราบน้ำท่วมถึง ทำให้ปลาที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญในตำบลกงลดลงไม่สามารถอพยพเข้าสู่พื้นที่ราบน้ำท่วมถึงได้ ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในตำบลกงขาดการเข้าถึงแหล่งอาหารตามธรรมชาติ อีกทั้งเศรษฐกิจชุมชนที่มีฐานผลิตมาจากการทำประมงน้ำจืดถดถอย