Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะประเมินประสิทธิภาพทางความยั่งยืน และเสนอแนะแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพทางความยั่งยืน ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกรณีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาโดยทำการศึกษาด้วยวิธีการประเมินมหาวิทยาลัยตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก (UI Green Metric World Ranking) เน้นการประเมินในหัวข้อที่ 2 ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อันได้แก่ 1.อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน 2.อาคารอัจฉริยะทั้งหมดของมหาวิทยาลัย 3.พลังงานทดแทนซึ่งผลิตได้ในมหาวิทยาลัย 4.ปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดหารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมด 5.อัตราส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนหารด้วยการใช้พลังงานทั้งหมดต่อปี 6.องค์ประกอบของอาคารสีเขียวที่ดำเนินการตามนโยบายการก่อสร้างและปรับปรุงทั้งหมด 7.การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 8.ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทั้งหมดหารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมด โดยรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องในหัวข้อ การประเมิน ข้อที่ 2 และแสดงแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนโดยคำนึงความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ ผลการศึกษาพบว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีผลการประเมิน อยู่ที่ 500 คะแนน และหากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาต้องการเพิ่มประสิทธิภาพทางความยั่งยืนด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะต้องใช้งบประมาณในการลงทุนประมาณ 35,321,906 บาท และ มีระยะเวลาในการคุ้มทุนประมาณ 6-7 ปี หลังจากดำเนินการ ท้ายที่สุดนั้นในงานวิจัยนี้สรุปได้ว่าการเพิ่มพื้นที่อาคารอัจฉริยะและเพิ่มจำนวนแหล่งที่มาของพลังงานทดแทนอื่นนอกจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นหัวข้อที่ดำเนินการได้ยากที่สุด ในส่วนของการดำเนินการที่มหาวิทยาลัยควรเริ่มดำเนินการคือการลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ช่วยส่งเสริมการประหยัดพลังงานจะทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางความยั่งยืนด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีกว่าเดิมและต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ที่คุ้มค่าต่อการลงทุนในอนาคต