Abstract:
การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุมีเกณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การศึกษาความต้องการและการมีแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อคุณภาพชีวิตและมีความสุข การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการเข้าใช้พื้นที่ศาสนสถานของผู้สูงอายุในวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในชุมชนเพื่อรองรับการใช้งานของผู้สูงอายุในวิกฤตโควิด–19 เพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาด้านกายภาพของศาสนสถานในการรองรับการใช้งานของผู้สูงอายุ ผู้วิจัยเลือกศึกษาพื้นที่ 3 ชุมชนได้แก่ ชุมชนวัดประยุรฯ ชุมชนกุฎีจีน และชุมชนกุฎีขาว เหตุผลเพราะว่าเป็นพื้นที่ชุมชนเก่าแก่ที่มีความโดดเด่นในการอยู่ร่วมกันต่างวัฒนธรรมและเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาในด้านกายภาพและสังคม ผ่านกระบวนการ คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายโดยผ่าน Gatekeeper และใช้หลักเกณฑ์การวิจัยเชิงคุณภาพตามแนวทางของ Nastasi และ Schensul (2005) ในการการสัมภาษณ์ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการชุมชนรวมถึงผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีที่เข้าใช้พื้นที่ศาสนสถานเป็นประจำทั้งหมด 32 ท่าน โดยใช้แนวคิดถนนเพื่อชีวิต (Street for life)Elizabeth Burton และ Lynne Mitchell (2006) และแนวคิดเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ (Age friendly city) ของ WHO เพื่อนำข้อเสนอแนะมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมชุมชน
ผลจากการสำรวจพื้นที่ด้านที่อยู่อาศัย พื้นที่ภายนอกและภายในอาคาร การคมนาคมของพื้นที่ศึกษาชุมชนวัดประยุรฯ ชุมชนกุฎีจีน ชุมชนกุฎีขาว ด้านพื้นที่ภายนอกและภายในอาคารพบว่ามีอุปสรรคของการใช้งานพื้นที่ภายนอกในส่วนของทางเท้า ถนน ตรอก ซอย โดยมีสาเหตุมาจากพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน มีสิ่งกีดขวางบนถนน และสภาพผิวถนนที่ค่อนข้างขรุขระ ในด้านที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ที่มีอายุมากไม่เหมาะสมต่อการใช้งานของผู้สูงอายุและการคมนาคมในพื้นที่สมาชิกในชุมชนใช้การเดินเท้าในการไปยังส่วนต่างๆ ของชุมชนดังนั้น จึงเสนอแนะแนวทางการออกแบบและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อผู้สูงอายุตามแนวคิดเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ (Age friendly city) เช่น มีพื้นที่สีเขียวหรือที่นั่งสาธารณะ ทางเท้าที่ไม่มีสิ่งกีดขวางและเรียบเสมอกันสามารถใช้งานได้จริง