Abstract:
ปัจจุบันสถานการณ์การเติบโตและอุปทานของตลาดอาคารสำนักงานอยู่ในภาวะการแข่งขันของตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงมาก ทำให้ต้องอาศัยกลยุทธ์การพัฒนาที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน โดยปัญหาด้านสุขภาพหรือสุขภาวะของผู้ใช้อาคารเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาอาคารสำนักงาน จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะในการใช้งาน ซึ่งในประเทศไทยมีโครงการสำนักงานสุขภาวะที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในการออกแบบอาคารที่ส่งเสริมสุขภาวะ WELL Building Standard Version 1 แห่งแรกในประเทศไทย คือ โครงการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ผู้วิจัยจึงเลือกโครงการดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาและทำการศึกษามาตรฐาน WELL Building Standard Version 1 ร่วมกับการศึกษาวิจัยเชิงสำรวจที่ได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบสัมภาษณ์และแบบสอบถาม ตลอดจนการสังเกตการณ์ภายในพื้นที่โครงการกรณีศึกษา โดยใช้กระบวนการติดตามผลและประเมินผลโครงการ (Project Monitoring and Evaluation) โดยมีกลุ่มผู้ใช้ภายในพื้นที่โครงการกรณีศึกษาทั้งหมดจำนวน 9 คน และกลุ่มผู้ประกอบการหรือผู้บริหารระดับสูงและผู้พัฒนาโครงการเป็นกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาวิจัย โดยใช้หลักการประเมินตนเอง (Self-assessment) ในการให้ข้อมูล ผลการศึกษาพบว่า 1) โครงการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) มีการพัฒนาโครงการตามมาตรฐาน WELL Building Standard Version 1 โดยเลือกระดับการรับรองมาตรฐานในระดับ Gold และได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าว โดยมีการดำเนินการเกณฑ์ปัจจัยตามมาตรฐานจำนวน 61 เกณฑ์ปัจจัยจากทั้งหมด 103 เกณฑ์ปัจจัย คิดเป็นร้อยละ 59.22 ของเกณฑ์ปัจจัยตามมาตรฐานในประเภทการตกแต่งพื้นที่ภายในอาคารใหม่และการตกแต่งพื้นที่ภายในอาคารเดิมทั้งหมด ทั้งนี้ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาในประเด็นด้านการให้ความสำคัญและความคาดหวังต่อเกณฑ์ปัจจัยในการพัฒนาโครงการ พบว่า หมวด Air เป็นหมวดที่มีจำนวนการดำเนินการทั้งในข้อบังคับการดำเนินการ (Precondition) และข้อเลือกทำ (Optimization) มากที่สุด โดยผู้พัฒนาโครงการมีการให้ค่าระดับความสำคัญและความคาดหวังเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยที่เกณฑ์ปัจจัยในหมวด Air มีค่าเฉลี่ยการให้ความสำคัญในระดับมากที่สุด และมีค่าเฉลี่ยความคาดหวังในระดับมากที่สุดเช่นเดียวกัน รองลงมา ได้แก่ หมวด Light มีค่าเฉลี่ยการให้ความสำคัญในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยความคาดหวังในระดับมากที่สุด หมวด Comfort มีค่าเฉลี่ยการให้ความสำคัญและความคาดหวังในระดับมาก ตามลำดับ 2) ผู้ใช้ตอบสนองโดยการรับรู้และมีความพึงพอใจต่อเกณฑ์ปัจจัย Air Quality Standards มากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยการรับรู้อยู่ในระดับมากที่สุด และมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก รองลงมา ได้แก่ เกณฑ์ปัจจัย Ergonomics มีค่าเฉลี่ยการรับรู้อยู่ในระดับค่อนข้างมาก และมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เกณฑ์ปัจจัย Visual Lighting Design มีค่าเฉลี่ยการรับรู้อยู่ในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับค่อนข้างมาก และเกณฑ์ปัจจัย Cleanable Environment มีค่าเฉลี่ยการรับรู้อยู่ในระดับค่อนข้างมาก และมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจอยู่ในระดับค่อนข้างมาก ตามลำดับ โดยเกณฑ์ปัจจัยดังกล่าวเป็นเกณฑ์ปัจจัยในหมวด Air หมวด Comfort และหมวด Light ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับการให้ความสำคัญและความคาดหวังของผู้พัฒนาโครงการต่อเกณฑ์ปัจจัยที่ใช้ในการพัฒนาตามมาตรฐานในการออกแบบอาคารส่งเสริมสุขภาวะ WELL Building Standard Version 1 ผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงเกณฑ์ปัจจัยและหมวดการพัฒนาที่ผู้พัฒนาโครงการให้ความสำคัญ อีกทั้งผู้ใช้ตอบสนองโดยการรับรู้และมีความพึงพอใจ จึงควรคำนึงถึงและให้ความสำคัญต่อเกณฑ์ปัจจัยและหมวดการพัฒนาดังกล่าว เพื่อให้เกิดการใช้งานของผู้ใช้ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามผลการวิจัยนี้เป็นเพียงผลการวิจัยเฉพาะโครงการกรณีศึกษาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเท่านั้น ในการศึกษาวิจัยครั้งต่อไปอาจทำการศึกษาโครงการสำนักงานสุขภาวะอื่นเพิ่มเติม เพื่อเปรียบเทียบความสอดคล้องหรือแตกต่างกันระหว่างโครงการสำนักงานสุขภาวะที่ได้รับการรับรองและไม่ได้รับการรับรอง อาจทำให้ได้ข้อค้นพบในการวิจัยที่แตกต่างกัน และทำให้การพัฒนาสำนักงานสุขภาวะในประเทศไทยมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเฉพาะมาตรฐาน WELL Building Standard Version 1 เท่านั้น ผู้ประกอบการหรือผู้พัฒนาโครงการที่จะพัฒนาสำนักงานสุขภาวะตามมาตรฐาน WELL Building Standard ในอนาคตควรทำการศึกษามาตรฐานในการออกแบบอาคารส่งเสริมสุขภาวะ WELL Building Standard Version 2 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ประกอบกับการวางแนวคิดและวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นสำคัญ