Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้ มุ่งเน้นศึกษาหลักการสากลรวมถึงกรณีศึกษาในต่างประเทศ เพื่อหาแนวทางการออกแบบภูมิทัศน์อาคารสำหรับพื้นที่สถานีขนส่งมวลชนทางราง ที่ส่งเสริมระดับค่าศักยภาพการมองเห็นและเข้าถึงให้เหมาะสมต่อการรักษานัยยะความสถานที่ ที่ประกอบด้วย 1) การเป็นพื้นที่สาธารณะที่อเนกประโยชน์ และ 2) การเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการรับรู้เชิงทัศน์ต่อภูมิทัศน์อาคารในประเด็นเรื่องความปลอดภัยและอัตลักษณ์ของพื้นที่เป็นหลัก อันสามารถรักษาหน้าที่ “ความเป็นสถานที่ของเมือง” ให้สมดุลกับ “ความเป็นจุดเชื่อมต่อเครือข่ายระบบสัญจร” ของพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนทางราง ซึ่งเป็นคุณสมบัติของพื้นที่สถานีที่ดี โดยเลือกพื้นที่ย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ศึกษาและวัดผลด้วยเครื่องมือการศึกษาสัณฐานวิทยาเมือง ที่สามารถแสดงผลบนแผนที่จริงตามระดับค่าวรรณะสีรุ้ง จากการศึกษาพบว่าปัญหาสำคัญ คือข้อกฎหมายที่ยังขาดการคำนึงถึงความแตกต่างเฉพาะตัวในบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สถานีขนส่งมวลชนทางราง ที่มีตัวแปรทางกายภาพที่ชัดเจนและมีผลกระทบโดยตรง คือ โครงสร้างยกระดับ ดังนั้น ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างยกระดับดังกล่าวได้ แต่หากสามารถเพิ่มเติมข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านการมีแนวทางการออกแบบภูมิทัศน์อาคารสำหรับพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนทางราง โดยผู้วิจัยได้สรุปแนวทางการออกแบบเพื่อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ระยะ สัดส่วน กำหนดสัดส่วนความสูงฐานอาคารต่อระยะแนวราบให้สอดคล้องกับมุมมองของผู้คนในทุกระดับชั้น, 2) การใช้ประโยชน์พื้นที่ กำหนดให้ความเป็นสาธารณะสามารถแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่และอาคารโดยรอบ, 3) รูปแบบและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม กำหนดให้ทุกฐานอาคารต้องให้ความสำคัญกับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมบนรูปด้านหน้าอาคารที่แสดงถึงความปลอดภัยและอัตลักษณ์ของพื้นที่เป็นหลัก รวมทั้งเพิ่มเติมการกำหนดรูปแบบของส่วนเชื่อมต่อให้มีลักษณะที่โปร่ง ไม่ทึบตัน อีกทั้งกำหนดให้บริเวณอาคารและแนวรั้วที่ตั้งอยู่หัวมุมถนน ต้องปาดมุมให้มีขนาดที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการเป็นจุดเชื่อมต่อมุมมองและและการเข้าถึงจากพื้นที่รอบสถานีสู่พื้นที่ที่ลึกเข้าไป