Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา และบันทึกรูปแบบพื้นที่ (space patterns) และรูปแบบการใช้พื้นที่ (space use patterns) ของพื้นที่ย่านตลาดการค้าทั้ง 3 แห่งในแขวงวังบูรพาภิรมย์ ได้แก่ พื้นที่ย่านตลาดบ้านหม้อ พื้นที่ย่านตลาดพาหุรัด และพื้นที่ย่านตลาดปากคลองตลาด โดยการศึกษารูปแบบพื้นที่สามารถศึกษาผ่านการวิเคราะห์สเปซซินแท็กซ์และข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และการศึกษารูปแบบการใช้พื้นที่สามารถศึกษาได้จากการนับด่าน (gate method) การสะกดรอย (movement trace) และการจับภาพต่อเนื่อง (serial snapshot) เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบหาพื้นที่ที่มีความเป็นศูนย์กลางที่มีชีวิตตามนิยามของ Hillier (1999) เพื่อสรุปและสามารถนำไปเป็นประโยชน์ต่อการนำข้อมูลที่ได้จากการรู้จักความเป็นศูนย์กลางที่มีชีวิตในพื้นที่ย่านตลาดการค้าไปใช้ประยุกต์กับพื้นที่ย่านที่มีความเป็นศูนย์กลางอื่น ๆ ผลการวิจัยพบว่าพื้นที่ย่านตลาดบ้านหม้อมีรูปแบบพื้นที่ที่มีโครงข่ายพื้นที่สาธารณะที่มีความละเอียดย่อยและหนาแน่น มีโครงข่ายการสัญจรในลักษณะตาราง (grid system) สามารถรองรับการสัญจรเพื่อเข้าถึง (move to) และเพื่อผ่าน (move through) ในปริมาณที่สูง มีรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารที่ผสมผสาน มีรูปแบบมวลอาคารและพื้นที่ว่างที่เป็นบล็อกขนาดเล็กและมีความหนาแน่นมวลอาคารที่หนาแน่นทั้งในพื้นที่ตลาดและพื้นที่ชุมชนในพื้นที่ย่าน ส่งผลในรูปแบบการใช้พื้นที่ในพื้นที่ย่านตลาดบ้านหม้อมีอัตราการสัญจรผ่านของคนทั่วไปในช่วงตลาดปิดในระดับที่เท่ากันกับในช่วงตลาดเปิด มีเส้นทางการสัญจรหลากหลายเส้นทางมากกว่าพื้นที่ย่านอื่น ๆ และมีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายจากกลุ่มคนที่มาซื้อของในพื้นที่และคนทั่วไปทั้งจากภายนอกและคนในพื้นที่เอง ส่งผลให้พื้นที่ย่านตลาดบ้านหม้อมีความคึกคักและมีชีวิตชีวาทั้งในช่วงที่ตลาดเปิดและตลาดปิดจากทั้งกลุ่มคนที่มาซื้อของในตลาดและคนทั่วไปที่ ตามคำนิยามความเป็นศูนย์กลางที่มีชีวิตของ Hillier