Abstract:
อาคารชุดพักอาศัยประเภทอาคารสูงเป็นอาคารประเภทที่มีข้อกฎหมายบังคับและกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เข้มงวด และเนื่องจากมีโปรแกรมการใช้งานหลากหลาย ทำให้มีความซับซ้อนด้านการออกแบบ รวมถึงมีผู้เกี่ยวข้องในโครงการหลากหลายส่วน จึงทำให้แบบก่อสร้างอาคารมักพบการปะทะของงานต่างๆ ซึ่งหากการปะทะดังกล่าวไม่ถูกแก้ไขตั้งแต่ช่วงก่อนการก่อสร้างจะส่งผลกระทบต่อโครงการในช่วงการก่อสร้าง ในขณะเดียวกัน แบบจำลองสารสนเทศอาคารเป็นแนวคิดที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในกระบวนการออกแบบและก่อสร้างอาคาร รวมถึงการตรวจสอบการปะทะระหว่างหมวดงานต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อขัดแย้งที่มักพบในแบบก่อสร้างอาคาร จึงเป็นที่มาของการศึกษาการปะทะในแบบก่อสร้างโครงการอาคารชุดพักอาศัยด้วยแบบจำลองสารสนเทศอาคาร โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5 ศึกษาองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดการปะทะในแบบก่อสร้างโครงการ จัดทำตารางการปะทะระหว่างงานย่อยของแต่ละหมวดงาน ตรวจสอบการปะทะกับกลุ่มตัวอย่าง จัดกลุ่มการปะทะ วิเคราะห์ระดับผลกระทบของการปะทะที่เกิดขึ้นในกิจกรรมการก่อสร้างโครงการ จากนั้นนำข้อมูลที่ได้วิเคราะห์เชิงสถิติ จัดอันดับการปะทะ สรุปผลการศึกษา และอภิปรายผลการศึกษา
จากการศึกษาพบองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดการปะทะในแบบก่อสร้างสามารถจำแนกออกเป็น 8 หมวดงานหลัก ได้แก่ หมวดงานสถาปัตยกรรมหลัก หมวดงานสถาปัตยกรรมภายใน หมวดงานภูมิสถาปัตยกรรม หมวดงานวิศวกรรมโครงสร้าง หมวดงานระบบสุขาภิบาล หมวดงานระบบดับเพลิง หมวดงานไฟฟ้าและสื่อสาร และหมวดงานระบบปรับอากาศและเครื่องกล จากการตรวจสอบการปะทะของกลุ่มตัวอย่างพบว่า ระดับชั้นพักอาศัยมีค่าเฉลี่ยของจำนวนการปะทะเป็นอันดับสูงสุดที่ 252,584.80 ข้อต่อโครงการ คิดเป็นร้อยละ 78.52 ของจำนวนการปะทะทั้งโครงการ จึงเป็นที่มาของการตรวจสอบการปะทะเฉพาะระดับชั้นพักอาศัย เนื่องจากการปะทะมีปริมาณสูงมากดังที่กล่าวข้างต้น จึงมีความจำเป็นต้องจัดกลุ่มการปะทะเพื่อรวบรวมการปะทะกันที่มีลักษณะเดียวกันไว้ด้วยกัน นอกจากนี้พบว่า การปะทะที่มีปริมาณสูงสุดสามอันดับแรกของระดับชั้นพักอาศัย คือ (1) การปะทะระหว่างงานผนังของหมวดงานสถาปัตยกรรมหลักและงานท่อของหมวดงานระบบสุขาภิบาล (2) การปะทะระหว่างงานผนังของหมวดงานสถาปัตยกรรมภายในและงานท่อของหมวดงานระบบสุขาภิบาล และ (3) การปะทะระหว่างงานฝ้าของหมวดงานสถาปัตยกรรมภายในและงานท่อของหมวดงานระบบสุขาภิบาล ตามลำดับ โดยมีค่าเฉลี่ยของจำนวนกลุ่มการปะทะอยู่ที่ 8.4 8.2 และ 5.4 กลุ่มต่อโครงการ ตามลำดับ โดยทั้งผู้รับจ้างก่อสร้างและผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยให้ค่าคะแนนระดับผลกระทบของการปะทะที่เกิดขึ้นในกิจกรรมการก่อสร้างโครงการในลักษณะเกาะกลุ่มกันในช่วง 2.33-3.71 คะแนน ซึ่งส่งผลให้เกิดการแก้ไขแบบ ใช้ระยะเวลาในการแก้ปัญหาเพิ่ม และทำให้เกิดเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ไม่ทำให้ต้องหยุดกิจกรรมการก่อสร้าง
ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างอย่างแบบจำลองสารสนเทศอาคารในการตรวจสอบการปะทะของแบบก่อสร้างก่อนที่จะนำไปทำเป็นแบบขยายรายละเอียดในลักษณะ Shop Drawing เพื่อให้ผู้รับจ้างก่อสร้างและผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยตระหนักถึงการปะทะที่ได้จากแบบก่อสร้างของกลุ่มตัวอย่างและนำไปพิจารณารายละเอียดการก่อสร้างต่อ ทำให้ลดความเสี่ยงและความรุนแรงของผลกระทบทั้งด้านคุณภาพ ระยะเวลา และต้นทุนค่าก่อสร้างโครงการในช่วงการก่อสร้าง ซึ่งส่งผลดีต่อผู้รับจ้างก่อสร้าง บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตลอดจนลูกค้าโครงการ