Abstract:
จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรใน พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ กรุงเทพมหานครมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 4.6 และชุมชนมุสลิมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพชั้นในจะเป็นชุมชนเก่าแก่ จึงทำให้ผู้วิจัยสนใจศึกษา ชุมชนมุสลิมในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน และได้เลือกชุมชนบ้านครัว เป็นพื้นที่ศึกษา เนื่องด้วยชุมชนบ้านครัวเป็นชุมชนมุสลิมแห่งแรกในฝั่งพระนครและเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ปัจจุบันได้ถูกแบ่งเป็น 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านครัวเหนือ ชุมชนบ้านครัวตะวันตกและชุมชนบ้านครัวใต้ ทั้ง3ชุมชนมีวัฒนธรรมร่วมกัน และมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บทความวิจัยนี้มีประเด็นคำถาม คือ การปรับปรุงที่อยู่อาศัยและพื้นที่ภายนอกสำหรับผู้สูงอายุในชุมชนมุสลิมในพื้นที่กรุงเทพชั้นในควรมีแนวทางอย่างไร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ สภาพการอยู่อาศัย พื้นที่ภายนอกในชุมชน วิเคราะห์กิจกรรมในชีวิตประจำวันและศึกษาปัญหาการใช้งานพื้นที่ เพื่อนำเสนอแนวทางการปรับปรุงที่อยู่อาศัยและพื้นที่ภายนอกในชุมชนให้เหมาะสมต่อผู้สูงอายุตามแนวคิดเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ(Age friendly city) จากการเก็บข้อมูลด้วย แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์รวมถึงการสำรวจพื้นที่ด้านที่อยู่อาศัยและพื้นที่ภายนอกในชุมชนของพื้นที่ศึกษา พบว่าที่ ด้านที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุในชุมชนมุสลิมส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยว ส่วนใหญ่มีการประกอบศาสนกิจประจำวัน(การละหมาด)ในห้องเอนกประสงค์ และส่วนใหญ่อาบน้ำละหมาดในห้องน้ำ มีปัญหาและอุปสรรคของผู้สูงอายุได้แก่พื้นที่ ลานหน้าบ้าน ห้องครัวและห้องน้ำ สาเหตุมาจากวัสดุไม่เหมาะสมกับการใช้งาน ส่วนพื้นที่ภายนอกในชุมชน มีปัญหาและอุปสรรคของผู้สูงอายุได้แก่ ทางเดิน ถนน ทางเข้ามัสยิดและทางลาดในสวน โดยมีสาเหตุเกิดจาก พื้นที่ไม่เหมาะกับการใช้งาน พื้นไม่เรียบ วัสดุลื่นและไม่มีราวจับ จึงเสนอแนะแนวทางปรับปรุงได้แก่ จัดเตรียมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมต่อสภาพการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุตามแนวคิดออกแบบเพื่อทุกคน หรือ Universal Design