Abstract:
การศึกษารูปแบบที่พักอาศัยชั่วคราวที่ทางบริษัทรับเหมาก่อสร้างจัดหาให้กับพนักงาน และแรงงานก่อสร้างนั้น ส่วนใหญ่บริษัทรับเหมาก่อสร้างรับหน้าที่ในการจัดเตรียมที่พักให้เป็นแหล่งพักอาศัย บริษัทมักเลือกพื้นที่ใกล้กับหน่วยงานก่อสร้าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพนักงาน และเป็นสวัสดิการให้กับแรงงานในหน่วยก่อสร้าง โดยในปัจจุบันบริษัทอิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาที่พักอาศัยชั่วคราวสร้างใหม่เป็นรูปแบบที่ใช้วัสดุสำเร็จรูปแบบถอดประกอบในการก่อสร้างทั้งหมดโดยจัดที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับพนักงานประจำ คนงานก่อสร้าง และผู้รับเหมาช่วงคือ วิศวกร พนักงาน โฟร์แมน คนงานก่อสร้างของบริษัท และคนงานก่อสร้างของผู้รับเหมาช่วง เพื่อคุ้มทุนในระยะยาว และสะดวกในการเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ก่อสร้างอื่น แต่อย่างไรก็ดีจากการศึกษาเบื้องต้นการนำรูปแบบสำเร็จรูปแบบถอดประกอบเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำนั้นไม่ได้มากเท่าที่ควร โดยพบว่าผู้พักอาศัยมักต่อเติมดัดแปลงพื้นที่พักอาศัยบริเวณของตนเอง ซึ่งการพักอาศัยจะอยู่เป็นเวลา 1-2 ปีขึ้นไปย่อมต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องต่อวิถีการดำเนินชีวิต ส่งผลให้ที่พักอาศัยชั่วคราวสำเร็จรูปเกิดการเสียหายขึ้นจากการต่อเติมดัดแปลงดังกล่าว งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบทางกายภาพ และวิเคราะห์ปัญหาการนำที่พักอาศัยชั่วคราวสำเร็จรูปแบบถอดประกอบมาใช้สำหรับเป็นที่พักอาศัยชั่วคราว
โดยการรวบรวมข้อมูลด้านกายภาพของที่พักอาศัยชั่วคราวสำเร็จรูป ให้ทราบถึงรูปแบบการพักอาศัย ปัญหาในการพักอาศัย และสาเหตุในการดัดแปลงที่พักอาศัย ซึ่งมีวิธีการวิจัยคือศึกษาที่พักอาศัยชั่วคราวเชิงลึก 1 พื้นที่โดยการสำรวจสภาพกายภาพ จำนวน 147 ห้องพัก และเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้พักอาศัยในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 35 ห้องพัก กลุ่มตัวอย่างละ 5 ห้องพัก ครอบคลุมตั้งแต่ระดับหัวหน้างานถึงคนงานก่อสร้าง ประกอบไปด้วยผู้พักอาศัยระดับวิศวกร พนักงาน โฟร์แมน คนงานก่อสร้างชาวไทยของบริษัท คนงานก่อสร้างชาวเมียนมาของบริษัท คนงานก่อสร้างชาวไทยของผู้รับเหมาช่วง และคนงานก่อสร้างชาวกัมพูชาของผู้รับเหมาช่วง หลังจากนั้นจึงนำผลสรุปมาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเสนอแนวทางการจัดการปัญหา และการต่อเติมที่พักอาศัยให้เพียงพอต่อผู้พักอาศัย
ผลการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่ลักษณะการใช้งานของผู้พักอาศัยจะกระทบต่อที่พักอาศัยชั่วคราวในระยะยาวกรณีที่ต้องเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่อื่นโดยวิธี เจาะ ยึด เชื่อมเข้ากับแผ่นสำเร็จรูปหรือโครงสร้างของที่พักอาศัยสำเร็จรูปคิดเป็นร้อยละ 74 คือ การต่อเติมดัดแปลงกันสาด ราวตากผ้า ทำFlashingกันน้ำบริเวณรอยต่อแผ่นผนังภายนอก การปิดช่องแสงบริเวณหน้าต่าง การติดตั้งชั้นวางของภายในห้องพักเข้ากับแผ่นผนังและติดตั้งวัสดุกั้นห้องบริเวณเหนือแผ่นผนังภายในแต่ละห้องพัก ซึ่งสาเหตุในการดัดแปลงที่พักอาศัยคือ 1.เพื่อเพิ่มพื้นที่พักอาศัยทั้งภายใน และภายนอกห้องพักคิดเป็นร้อยละ 50 2.เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสภาพกายภาพเดิมซึ่งเกิดจากธรรมชาติคือแดด ฝน และแก้ปัญหาจากพฤติกรรมการใช้งานพื้นที่ไม่สอดคล้องต่อความต้องการของผู้พักอาศัยคิดเป็นร้อยละ 50 เมื่อศึกษาปัญหาทางกายภาพ และสังคมพบว่าการแก้ปัญหาของผู้พักอาศัยเกิดขึ้นจากความจำเป็น ที่ต้องดัดแปลงแก้ไขกายภาพ เพื่อให้ความเป็นอยู่ของผู้พักอาศัยเองดีขึ้น ซึ่งเกิดจากการใช้งาน และความต้องการของผู้พักอาศัย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้งานในระยาวของที่พักอาศัยชั่วคราวสำเร็จรูปให้เกิดความเสียหายก่อนจะถึงจุดคุ้มทุนตามที่ผู้ประกอบการวางแผนไว้
จากการสรุปผลด้วยลักษณะการใช้งาน รูปแบบ ปัญหา และสาเหตุในการดัดแปลงพื้นที่มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มตัวอย่าง ดังนั้นผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างที่ต้องการนำที่พักอาศัยชั่วคราวสำเร็จรูปมาใช้งานเพื่อความสะดวก รวดเร็วในการก่อสร้าง และคุ้มทุนในระยะยาวควรคำนึงถึงพฤติกรรมการใช้งานรวมทั้งความต้องการของผู้พักอาศัย และในหน่วยงานก่อสร้างจะมีวัสดุเหลือใช้ หรือ วัสดุเสียหายจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างหลักได้ ผู้ประกอบการสามารถนำวัสดุดังกล่าวมาประยุกต์ใช้สำหรับที่พักอาศัยชั่วคราวสำเร็จรูปแบบถอดประกอบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป งานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาที่พักอาศัยชั่วคราว และเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานภาครัฐในการออกระเบียบ ข้อบังคับในการพักอาศัยชั่วคราว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงาน และแรงงานก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้ทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ และส่งผลทางอ้อมในการยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างต่อไป