Abstract:
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก โรงแรมหลายแห่งต้องปรับตัวในหลากหลายวิธี รวมถึงการเข้าร่วมการรับรองมาตรฐานป้องกัน COVID-19 ที่เรียกว่า Safety & Health Administration (SHA) งานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษากลยุทธ์การปรับตัวของผู้ประกอบการโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA ต่อผลกระทบ COVID-19 ในเขตกทม. จำนวน 46 แห่ง โดยใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ของโรงแรม และเว็บไซต์ OTA ระหว่างเดือนมี.ค.-ธ.ค.2563 รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการโรงแรมกรณีศึกษา 3 แห่ง และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีวิเคราะห์สถิติระดับราคาห้องพักและจำนวนวันปิด รวมถึงการถอดเทปคำสัมภาษณ์เพื่อวิเคราะห์คำสำคัญเพื่อนำไปสู่ข้อสรุป
ผลการศึกษาพบว่า 1) โรงแรมในกรุงเทพฯที่อยู่ในเขต CBD ต้องมีการปิดตัวชั่วคราวในช่วง มี.ค.-ธ.ค.63 คิดเป็นจำนวนวันที่ปิดประมาณ 34-50% ทั้งนี้โรงแรมขนาดใหญ่มีการปิดตัวชั่วคราวมากที่สุด และมีการลดราคาห้องพักเฉลี่ย 59% จากราคาปกติ ขณะที่โรงแรมขนาดเล็กมีการลดระดับราคาห้องพักเฉลี่ย 50% จากราคาปกติ 2) กลยุทธ์ที่โรงแรมทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กนิยมใช้มากที่สุดคือ การขายห้องพักแบบมีส่วนลด อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ด้านการขายอาหารและเครื่องดื่มและกลยุทธ์ด้านการให้บริการมีการใช้มากในโรงแรมขนาดใหญ่และขนาดกลางอันเนื่องมาจากความพร้อมในด้านสิ่งอำนวยความสะดวก 3) กลยุทธ์การปรับตัวด้านกายภาพของโรงแรม มีการปรับใน 3 พื้นที่ คือ (1) พื้นที่ส่วน BOH (Back of the House) เช่น ครัว, ส่วนซักรีดมีการเปิดใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างรายได้เข้าโรงแรม (2) พื้นที่ ส่วนห้องพักและพื้นที่ส่วนกลางเช่น ห้องอาหาร สระว่ายน้ำ มีการปิดชั่วคราวเพื่อลดการดูแลในช่วงที่จำนวนแขกเข้าพักมีน้อย (3) การปรับเปลี่ยนจากงานระบบเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่แบบรวม (Chiller Plant) แบ่งเป็นหลายๆเครื่องที่มีขนาดเล็กลง เพื่อลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า 4) การเข้าร่วมมาตรฐาน SHA อาจไม่ส่งผลโดยตรงต่อการบริหารโรงแรม แต่มีผลทางอ้อมในเชิงการรับรู้จากสาธารณะจากการได้รับการรับรองมาตรฐานโดยภาครัฐ นอกจากนี้ มาตรการของภาครัฐที่เกิดขึ้นแม้จะไม่ได้บังคับใช้กับโรงแรมในส่วนของห้องพัก แต่ก็มีผลทางอ้อมทำให้จำนวนผู้เข้าพักลดลงจนกระทั่งโรงแรมหลายแห่งต้องปิดตัวชั่วคราว สอดคล้องกับจำนวนวันปิดและการเปลี่ยนแปลงของราคาห้องพักที่ลดลงอย่างรุนแรงในช่วงที่เริ่มมีมาตรการปิดประเทศ
งานวิจัยนี้ แสดงให้เห็นสถานการณ์และการปรับตัวของโรงแรมในเขต CBD ในกรุงเทพฯเพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ในช่วงปี 2563 ทั้งนี้ การปรับตัวที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นการใช้ทรัพยากรด้านกายภาพและการบริการของโรงแรมเพื่อสร้างรายได้และลดรายจ่าย แต่การปรับตัวดังกล่าวอยู่ในระยะสั้นซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์และมาตรการภาครัฐ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อต่อผู้ประกอบการโรงแรมที่จะสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการเตรียมตัว อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการนำข้อมูลไปเพื่อการวางแผนทั้งด้านการออกแบบพื้นที่และการบริหารจัดการโรงแรมในระยะยาวเพื่อรองรับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต