Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้ศึกษาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนพื้นที่สาธารณะระดับชุมชนจากเกิดขึ้นของนโยบายพัฒนาฟื้นฟูเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านการพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มผู้อยู่อาศัยเดิมในชุมชน จากการเกิดขึ้นของกิจกรรมใหม่โดยกลุ่มผู้ประกอบการสร้างสรรค์และกลุ่มนักท่องเที่ยวบนพื้นที่สาธารณะระดับชุมชนของชุมชนย่านตลาดน้อย ด้วยวิธีการสำรวจการใช้งานเพื่อวิเคราะห์การทับซ้อนของกิจกรรมเพื่อจำแนกระดับของผลกระทบ ประกอบกับการสัมภาษณ์กลุ่มประชากรเป้าหมายเพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของทัศนคติที่มีต่อการใช้งานและผลกระทบที่เกิดขึ้น ผ่านการประยุกต์จากทฤษฎีสินค้าสาธารณะ (Public Goods)
ผลการสำรวจการทับซ้อนกิจกรรมบนพื้นที่สาธารณะระดับชุมชนพบว่า กลุ่มผู้อยู่อาศัยเดิมในชุมชนได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของกลุ่มผู้ประกอบการสร้างสรรค์และกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยมีระดับของผลกระทบตั้งแต่ในระดับต่ำหรือสามารถใช้งานพื้นที่ร่วมกันได้ ผลกระทบในระดับปานกลางหรือการใช้งานที่เป็นอุปสรรคต่อกัน จนไปถึงผลกระทบสูงหรือผู้อยู่อาศัยเดิมในชุมชนต้องหยุดทำกิจกรรมและเลี่ยงการใช้งานในบริเวณนั้น ซึ่งความแตกต่างของระดับผลกระทบนี้ยังสะท้อนถึงความหลากหลายของกิจกรรมในบริบทพื้นที่สาธารณะระดับชุมชนประเภทต่าง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้งานแตกต่างกัน
ผลการวิเคราะห์ทัศนคติที่มีต่อการใช้งานและผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยเดิมในชุมชนพบว่า กลุ่มผู้อยู่อาศัยเดิมในชุมชนและกลุ่มผู้ประกอบการสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ มีทัศนคติต่อพื้นที่สาธารณะระดับชุมชนสอดคล้องกันในรูปแบบ พื้นที่สาธารณะส่วนกลาง (Common Goods) โดยกลุ่มผู้อยู่อาศัยเดิมในชุมชนจะไม่สามารถกีดกันผู้ใช้งานกลุ่มอื่น ๆ ในพื้นที่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมักพบผลกระทบระหว่างกลุ่มผู้ใช้งาน เนื่องจากการขาดกฎระเบียบเพื่อควบคุมความเหมาะสม ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวมีทัศนคติต่อพื้นที่สาธารณะระดับชุมชนในรูปแบบพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริง (Public Goods) ทัศนคติในลักษณะดังกล่าวทำให้สามารถตัดสินใจในการเลือกใช้งานพื้นที่สาธารณะชุมชนทุกจุดได้อย่างอิสระ และยังแสดงออกในด้านพฤติกรรมโดยไม่มีข้อจำกัด สอดคล้องกับผลวิเคราะห์ในข้างต้นที่พบว่า กลุ่มผู้อยู่อาศัยเดิมในชุมชนได้รับผลกระทบจากการเข้ามาใช้พื้นที่ของกลุ่มอื่น ๆ