Abstract:
ประเทศไทยมีการผลิตและนำไม้สักจากป่าธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ภายในประเทศและด้านการค้ามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ด้วยคุณสมบัติเฉพาะของไม้สักสามารถนำไปใช้งานได้สารพัดประโยชน์ จึงทำให้เป็นที่ต้องการของนานาประเทศ จนไม้สักกลายเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นจำนวนมหาศาล อีกทั้งไม้สักไม่ได้มีคุณค่าเฉพาะด้านความงามของงานช่างเท่านั้น แต่ยังเป็นหลักฐานของยุคสมัยที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและคุณค่าความสำคัญผ่านการใช้งานด้วย
จากการค้นคว้างานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่ายังขาดงานวิจัยที่สร้างความเข้าใจในโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานไม้สักในงานสถาปัตยกรรม การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานของไม้สักในงานสถาปัตยกรรม และวิเคราะห์ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเชื่อมโยงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ของห่วงโซ่ และลำดับพัฒนาการห่วงโซ่ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงจากอดีตถึงปัจจุบันชัดเจนมากยิ่งขึ้น ด้วยวิธีการทบทวนวรรณกรรมด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทั้งข้อมูลทางสถิติและปริมาณการใช้งาน รวมถึงเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในย่านการค้าไม้เพิ่มเติม นำข้อมูลที่ได้เหล่านี้มาคำนวณเพื่อประเมินการใช้งานไม้สักแต่ละยุคสมัยในประเทศไทย โดยเน้นการใช้ข้อมูลหลักฐานบันทึกทางสถิติจำนวนประชากร ปริมาณการส่งออก ในสมัยรัชกาลที่ 3 และหลังรัชกาลที่ 4 มาเป็นฐานหลักในการคำนวณปริมาณการใช้ไม้สัก
จากการศึกษาพบว่า การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานของไม้สักในงานสถาปัตยกรรมเกิดจากความสัมพันธ์ของห่วงโซ่ 2 ส่วน ได้แก่ (1) ผลผลิตและการใช้งานไม้สัก ตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่มีการส่งไม้สักไปเป็นเครื่องบรรณาการให้กับจีน การลงทุนทำการค้าของพ่อค้าชาวจีน และเริ่มมีการค้าอย่างจริงจังเมื่อบริษัทชาวยุโรปเข้ามาลงทุนกิจการค้าไม้ในประเทศไทย ซึ่งมีปริมาณการส่งออกขอนสักสูงสุดถึง 120,000 ท่อนในสมัยรัชกาลที่ 5 และ (2) จุดเปลี่ยนสำคัญ โดยมีปัจจัยเชิงการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของห่วงโซ่ 3 ปัจจัย ได้แก่ 1) การเข้ามาทำธุรกิจการทำไม้สัมปทานของชาวต่างชาติ 2) ผลกระทบต่อปริมาณพื้นที่ป่าไม้จากการทำสัมปทาน และ 3) ปริมาณความต้องการและการใช้งานไม้สักในแต่ละช่วงเวลา จากปัจจัยทั้ง 3 ส่งผลให้เกิดจุดเปลี่ยนตามลำดับเหตุการณ์ 10 จุด ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของห่วงโซ่
จากความสัมพันธ์ทั้ง 2 ส่วนที่กล่าวมานั้น ทำให้สามารถสรุปลำดับพัฒนาการห่วงโซ่อุปทานของไม้สักในงานสถาปัตยกรรมได้ 2 ส่วน ได้แก่ (1) พัฒนาการช่วงการเปลี่ยนแปลง สามารถแบ่งช่วงการเปลี่ยนแปลงได้ 4 ยุค ได้แก่ ยุคที่ 1 การเข้ามาทำไม้สักของพ่อค้าชาวจีน ยุคที่ 2 การเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ของบริษัทต่างชาติ ยุคที่ 3 การตั้งชุมชนโรงเลื่อยหลังวัดสระเกศ และยุคที่ 4 การขยายตัวไปยังย่านบางโพ (2) พัฒนาการโครงสร้างห่วงโซ่ของต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และผู้ใช้งาน ในแต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกัน สังเกตจากการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านแหล่งที่มาของไม้สัก การขนส่ง และการใช้งานไม้ โดยการสรุปแผนผังแสดงการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานของไม้สักแยกตามยุคสมัยไว้ ทำให้เกิดข้อสังเกตว่าความสมดุลของปริมาณการใช้งานไม้สักในแต่ละช่วงเวลาไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณขอนสักที่ผลิตได้ การรักษาสมดุลของไม้สักเพื่องานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมจะต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ไม้สักจากสวนป่าปลูกยังคงไม่ใช่วัสดุหลักในการใช้งานในเร็ว ๆ นี้ และการเข้ามาของวัสดุใหม่ส่งผลต่อปริมาณการใช้งาน แต่มูลค่าไม้สักยังคงเพิ่มสูงขึ้น