Abstract:
งานวิจัยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาถึงกระบวนการกำหนดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งของไทย บทบาทและกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของกลุ่มเหตุปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งของไทย ในช่วงปี พ.ศ.2546 – พ.ศ.2561 ผู้วิจัยได้สร้างกรอบแนวคิดจากการประยุกต์แนวคิดทฤษฎีกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งแบ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ระบบทุนนิยมโลก โครงสร้างส่วนบนของระบบเศรษฐกิจ อุปทานและอุปสงค์ของนโยบาย โดยใช้แนวคิดทฤษฎีรัฐเศรษฐศาสตร์ อธิบายพฤติกรรมของรัฐบาลที่มีผลโดยตรงต่อการกำหนดนโยบาย และใช้แนวคิดทฤษฎีกลุ่มผลประโยชน์ อธิบายพฤติกรรมของกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพลในการผลักดันนโยบาย
ผลการวิจัยพบว่า นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งของไทย เริ่มต้นเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ.2546 ผ่านโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “Unseen in Thailand มุมมองใหม่ เมืองไทย” โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นให้เกิดแรงขับเคลื่อนด้านอุปสงค์ในประเทศ เพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่จากวิกฤตต้มยำกุ้งปี พ.ศ. 2540 และความอึมครึมของภาวะสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิรัก โดยโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในทางเศรษฐกิจ จึงมีการจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งขึ้นในแต่ละปีอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งกลับไม่ได้สร้างผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลให้กับคนไทยเท่าที่ควร เนื่องจากแรงผลักดันในการออกนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งของไทยที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มทุนต่างชาติ ทำให้คนไทยที่เป็นเจ้าของพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นปริมาณมากในเขตท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งโดยขาดการควบคุมดูแลการเข้าใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งเสื่อมโทรมลงทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ