Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแบบจำลองทางทฤษฎีในการอธิบายบทบาทของกลุ่มชนชั้นกลางทั้งระดับบนและระดับล่าง ภายใต้การดำเนินนโยบายประชานิยมที่ส่งผลต่อการกลายเป็นประชาธิปไตยของไทย โดยอาศัยแบบจำลองของ Acemoglu and Robinson (2006) เป็นกรอบแนวคิดพื้นฐาน และขยายเพิ่มเติมจากกรอบแนวคิดพื้นฐานใน 2 ประเด็นคือ หนึ่งกลุ่มประชากรประกอบด้วย กลุ่มชนชั้นปกครอง กลุ่มชนชั้นกลางระดับบน กลุ่มชนชั้นกลางระดับล่าง และกลุ่มคนจน โดยแต่ละกลุ่มประชากรสมมติให้มีความต้องการอรรถประโยชน์ในการดำรงชีวิตที่ต่างกัน และสองรัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายการคลังผ่านการจัดสรรงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อการประชานิยมได้
ผลการศึกษาพบว่า ภายใต้การดำเนินนโยบายประชานิยม หากกลุ่มชนชั้นกลางระดับล่างมีรายได้ใกล้เคียงกับกลุ่มคนจนแล้ว การดำเนินนโยบายประชานิยมจะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการดำเนินนโยบายประชานิยมเพิ่มมากขึ้น ขณะที่กลุ่มชนชั้นกลางระดับบนหากมีรายได้ใกล้เคียงกับกลุ่มคนรวยแล้ว สัดส่วนรายจ่ายเพื่อการประชานิยมที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้คนกลุ่มนี้สูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จึงแนวโน้มที่จะร่วมมือกับกลุ่มชนชั้นสูงในการทำรัฐประหารเพิ่มขึ้น และหากพิจารณาในแง่ภาระทางภาษีผลการศึกษาพบว่า การดำเนินนโยบายประชานิยมได้การสร้างภาระทางภาษีให้แก่กลุ่มคนชั้นกลางระดับบนมากกว่ากลุ่มชนชั้นกลางระดับล่าง และยิ่งช่องว่างของรายได้ระหว่างกลุ่มชนชั้นกลางมีมากเพียงใด ภาระทางภาษีของกลุ่มชนชั้นกลางระดับบนก็จะยิ่งมีเพิ่มสูงขึ้น ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นทางออกของปัญหาคือ การนำเสนอนโยบายซึ่งไม่จำเพาะเพียงการประชานิยมที่ให้ผลประโยชน์แก่กลุ่มชนชั้นกลางระดับล่างในฐานะผู้ลงคะแนนเสียงมัธยฐานเท่านั้น แต่ต้องให้ผลประโยชน์แก่คนทั้งสองกลุ่ม และนโยบายดังกล่าวต้องทำให้ส่วนแบ่งรายได้โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางระดับบนเพิ่มสูงขึ้น จึงจะทำให้ต้นทุนการทำรัฐประหารของคนกลุ่มนี้มีเพิ่มมากขึ้น โอกาสการร่วมมือกับกลุ่มชนชั้นสูงในการทำรัฐประหารจะลดลง และโอกาสในการธำรงระบอบประชาธิปไตยจะมีมากขึ้น