Abstract:
งานศึกษาครั้งนี้ได้ศึกษาถึง 3 ประเด็นได้แก่ 1.ความเป็นธรรมของระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย 2.การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล 3.การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการกลายเป็นคนยากจนจากค่ารักษาพยาบาลและการศึกษาทั้งสามประเด็นจะเปรียบเทียบระหว่างเขตการปกครอง (ในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล) ของประเทศไทย การศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนและการสำรวจอนามัยและสวัสดิการของปี พ.ศ. 2562 สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ วิธีการศึกษาของทั้ง 3 ประเด็นจะประกอบด้วยการคำนวณค่าดัชนีคัควานีและดัชนีการวัดการกระจายเพื่อวัดความเป็นธรรมของระบบบริการสุขภาพ ส่วนของการศึกษาสภาวะล้มละลายและการกลายเป็นคนยากจนจากค่ารักษาพยาบาลศึกษาด้วยแบบจำลองสมการถดถอยโลจิต
ผลการศึกษาสำหรับประเด็นความเป็นธรรมของระบบบริการสุขภาพ พบว่า ระบบบริการสุขภาพมีลักษณะถดถอยและยังคงมีความไม่เป็นธรรมในระบบบริการสุขภาพทั้งพื้นที่ในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลโดยประชาชนที่มีรายได้น้อยได้รับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากกว่าประชาชนที่มีรายได้สูงซึ่งมีค่าดัชนีคัควานีของภาพรวมทั้งหมดสามารถคำนวณได้เท่ากับ -0.1526 ประเด็นการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะล้มละลายและการกลายเป็นคนยากจนจากค่ารักษาพยาบาล พบว่า 2 ประเด็นนี้ ส่วนใหญ่ปัจจัยที่นำมาศึกษามีผลการศึกษาไปในทิศทางเดียวกัน โดยปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อสภาวะล้มละลายและการกลายเป็นคนยากจนจากค่ารักษาพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญ คือ 1. ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุ 2. ครัวเรือนที่มีผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย ส่วนของปัจจัยที่ลดโอกาสเสี่ยงต่อประเด็นที่ศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ คือ 1. สถานะการทำงานของหัวหน้าครัวเรือน 2. ระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน 3.ระดับเศรษฐานะของครัวเรือน 4. การมีประกันสุขภาพของสมาชิกในครัวเรือน เมื่อพิจารณาความแตกต่างระหว่างพื้นที่เขตการปกครองพบว่า ในพื้นที่เขตเทศบาลมีปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อประเด็นที่ศึกษาสภาวะล้มละลาย คือ ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุ ในส่วนของพื้นที่นอกเขตเทศบาล พบว่า ในเขตพื้นที่นี้ยังขาดปัจจัยที่ช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อประเด็นที่ศึกษาการกลายเป็นคนยากจน คือ การศึกษา เนื่องจากผลการประมาณค่าจากแบบจำลองทั้งภาพรวมพบว่า การศึกษาเป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อประเด็นที่กำลังศึกษา