Abstract:
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ มีบทบาทในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทย ให้สามารถขยายตัวในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่องและสามารถก้ามข้ามจากการเป็นประเทศยากจนสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้สำเร็จ แต่หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการชะลอตัวของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยากจนที่เพิ่มมากขึ้นและการกระจายรายได้ที่ลดลง อีกทั้งการลดลงของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ ภาครัฐจึงมุ่งเน้นการแก้ปัญหาตามแนวทางกลไกตลาดเสรี แต่วิธีการดังกล่าวยังไม่สามารถนำพาประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้ จึงนำมาสู่การศึกษาโดยการใช้เศรษฐศาสตร์สถาบันผ่านรูปแบบการกำกับดูแลโดยรัฐ ตามแนวทางที่หลายประเทศเลือกใช้ในช่วงการพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง
จากการศึกษา พบว่า การกำกับดูแลของไทยที่มีต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศผ่านรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีนั้น มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ภาครัฐจึงเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้คอยอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน และพยายามกำกับดูแลตามแนวทาง GEG โดยการแทรกแซงผ่านนโยบายภาษี โดยการลดอัตราภาษีนิติบุคคลและเพิ่มการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ไปพร้อม ๆ กับการเปิดเสรี เพื่อดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้มากขึ้น แต่กลับพบว่า การไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นตามการลดลงของภาษีและการให้สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การสนับสนุนด้านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษียังก่อให้เกิดการผูกขาดในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่นำมาซึ่งการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น ที่ส่งผลให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากนักลงทุนต่างชาติในไทยมีน้อยและขาดตอน เป็นอุปสรรคต่อการยกระดับประสิทธิภาพทางการผลิต การกำกับดูแลในรูปแบบดังกล่าว จึงไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการทำงานของกลไกทางสถาบันที่จะใช้การลงทุนโดยตรงจากพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวข้ามการติดกับดักรายได้ปานกลาง