Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการลาออกจากโรงเรียนของนักเรียนในประเทศไทยใน โดยใช้ข้อมูลกลุ่มนักเรียนในช่วงอายุ 13 ปี ถึง 17 ปี ในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 4,971 คน จากรายงานการสำรวจการทำงานของเด็กในประเทศไทย พ.ศ. 2558 และจำนวนทั้งสิ้น 14,580 คน จากรายงานการสำรวจการทำงานของเด็กในประเทศไทย พ.ศ. 2561 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ รวมถึงใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกระทรวงศึกษาธิการ การศึกษานี้วิเคราะห์ผลการศึกษาผ่านการวิเคราะห์แบบจำลองโพรบิท เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการลาออกจากโรงเรียนของนักเรียน ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลในเชิงบวกต่อความน่าจะเป็นของการลาออกจากโรงเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ นักเรียนเพศชาย อายุของนักเรียน จำนวนชั่วโมงภายในบ้านซึ่งไม่ได้รับค่าตอบแทน และนักเรียนที่ทำงานควบคู่กับการเรียนในโรงเรียนในกรณีระดับประถมศึกษา จำนวนชั่วโมงทำงานที่ได้รับรายได้และผลตอบแทน จำนวนสมาชิกในครัวเรือนของนักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นักเรียนที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย และนักเรียนที่อยู่อาศัยในภาคเหนือในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนปัจจัยที่ส่งผลในเชิงลบต่อความน่าจะเป็นของการลาออกจากโรงเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ อายุของนักเรียนในกรณีระดับมัธยมศึกษา นักเรียนที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลในระดับประถมศึกษา และสัดส่วนจำนวนโรงเรียนต่อจำนวนประชากร 1,000 คนในแต่ละจังหวัด ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการลดอัตราการลาออกจากโรงเรียนของนักเรียน รัฐบาลควรเพิ่มสัดส่วนจำนวนโรงเรียนต่อจำนวนประชากร 1,000 คนในแต่ละจังหวัด โดยการสร้างโรงเรียนเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนในแต่ละจังหวัดของประเทศไทย ด้านนโยบายการศึกษาสำคัญของประเทศไทย รัฐบาลควรเพิ่มงบประมาณสนับสนุนนโยบายเรียนฟรี 15 ปีและกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางการเงินและขยายโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนจากครัวเรือนยากจน