Abstract:
งานชิ้นนี้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์การเผชิญความไม่แน่นอนของราคาสินค้าเกษตรกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงด้านรายได้ของเกษตรกรไทย ในการศึกษาครั้งนี้ได้แบ่งการศึกษาสินค้าเกษตร 3 ประเภท ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และเป็นสินค้าเกษตรที่อยู่ภายใต้นโยบายความช่วยเหลือทางการเกษตรจากทางภาครัฐ โดยจะทำการศึกษา 3 ส่วน ประกอบด้วย 1) ข้อมูลราคาสินค้าเกษตร(ราคา ณ ไร่นา) และปริมาณน้ำฝนรายปี 21 ปีย้อนหลัง เพื่อศึกษาประสบการณ์ความไม่แน่นอนของเกษตรกรในด้านราคาและภูมิอากาศ 2) การทดลอง The Bomb Task เพื่อประเมินระดับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง 3) การทำแบบสอบถาม เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 112 คน ในพื้นที่จังหวัดเลย เพื่อศึกษาปัจจัยด้านสถานะความมั่นคงทางการเงินและบุคลิกภาพส่วนบุคคล ผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรไทยมีประสบการณ์การเผชิญความไม่แน่นอนด้านราคาอยู่ตลอดเวลา โดยมีความสัมพันธ์กับความไม่แน่นอนด้านภูมิอากาศ ประกอบกับการใช้นโยบายช่วยเหลือทางการเกษตรจากภาครัฐ โดยประสบการณ์ความไม่แน่นอนเหล่านี้ส่งผลต่อสถานะความมั่นคงทางการเงินของเกษตรกร ซึ่งผลจากการจำลองสถานการณ์การตัดสินใจในสถานการณ์ความเสี่ยง โดยวิธี The Bomb Task พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70 จัดอยู่ในกลุ่มผู้หลีกหนีความเสี่ยง โดยจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรผ่านการใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติด้วยสมการถดถอยพหุ (Multiple Regression) ซึ่งทั้งประสบการณ์ความไม่แน่นอนที่เกษตรกรได้พบเจอมาในด้านราคาสินค้าเกษตร สถานะความมั่นคงทางการเงิน รวมไปถึงบุคลิกลักษณะส่วนบุคคล ล้วนมีผลต่อความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของเกษตรกร โดยเฉพาะปัจจัยด้านสถานะความมั่นคงทางการเงินเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของเกษตรกร