Abstract:
บทบาทของเมืองในฐานะพื้นที่ที่สร้างโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคมของบุคคลที่มีภูมิหลังยากจน ถูกตั้งคำถามในช่วงสองทศวรรษหลัง เมื่อสัดส่วนคนจนเมืองเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยมีความสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นในเขตเมือง งานวิจัยนี้จึงตรวจทานสถานการณ์การเลื่อนชั้นทางสังคมข้ามรุ่นในเขตกรุงเทพมหานครเบื้องต้น ด้วยการศึกษาเชิงคุณภาพในกลุ่มครอบครัวที่มีภูมิหลังยากจน 30 ครอบครัว มีรุ่นพ่อแม่เป็นอดีตแรงงานอพยพไร้ทักษะ ตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพมหานครช่วงทศวรรษที่ 2510-2530 อันเป็นช่วงเริ่มต้นการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ของประเทศไทย
พบว่าตัวแทนจากรุ่นลูก 28 คนจาก 30 ครอบครัว มีจำนวนปีการศึกษาสูงกว่ารุ่นพ่อแม่ 19 คนมีระดับอาชีพสูงกว่า แต่มีเพียง 8 คน หรือหนึ่งในสี่ที่มีควินไลท์รายได้สูงกว่ารุ่นพ่อแม่ มีความสัมพันธ์กับข้อจำกัดด้านทักษะของรุ่นลูกในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ บริบทของตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง และเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา การเลื่อนชั้นทางสังคมแบบก้าวกระโดดจึงยังไม่เกิดขึ้นในรุ่นลูก
นอกจากนี้ ครอบครัวกรณีศึกษาที่รุ่นลูกประสบความสำเร็จในการเลื่อนชั้นทางสังคมข้ามรุ่น มีรุ่นพ่อแม่ที่มีความสามารถในการครอบครองทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรม จัดเป็นทุนในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการนอกระบบตลาด ได้มากกว่าครอบครัวที่รุ่นลูกไม่ประสบความสำเร็จ เพิ่มโอกาสให้รุ่นพ่อแม่เข้าถึงทุนทางเศรษฐกิจในรูปแบบที่เป็นทางการ เช่น การเข้าถึงงานและรายได้ ส่งผลต่อการเลื่อนชั้นทางสังคมในทางที่ดีขึ้นในรุ่นลูก ข้อค้นพบนี้สะท้อนว่าทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมสามารถชดเชยภูมิหลังเสียเปรียบของครอบครัวที่มีภูมิหลังยากจนได้ อีกด้านหนึ่ง ก็บ่งชี้ว่าครอบครัวเหล่านี้มีข้อจำกัดในการเข้าถึงโอกาสในระบบตลาด อันเกิดจากการกระจายทรัพยากรในเมืองไม่ทั่วถึง