Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาตามรุ่นย้อนหลัง (Retrospective cohort study) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานกะและความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวานในบุคลากร 2 องค์กรขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่าง 5,947 คน (หญิง 4,647 คนและชาย 1,300 คน) อายุ ≤ 60 ปี ซึ่งเป็นบุคลากรในสังกัดสภากาชาดไทยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการติดตามกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ (< 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ณ จุดเริ่มต้นของการศึกษาและมีผลตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อย 2 ครั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2552-2559 เก็บข้อมูลการประเมินการสัมผัสกับการทำงานกะโดยใช้แบบสอบถามและใช้ผลตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจากผลตรวจสุขภาพประจำปีในการประเมินการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวาน ใช้สถิติ Cox's proportional hazard ในการประมาณค่าความเสี่ยงต่อการเกิดโรค (Hazard Ratios: HR) และ 95% CI ผลการศึกษาพบว่า สัดส่วนของคนทำงานกะเท่ากับร้อยละ 23.7 มีผู้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 รายใหม่ในกลุ่มคนไม่ทำงานกะและทำงานกะ เท่ากับ 97 และ 47 คน คิดเป็นอัตราอุบัติการณ์ 4.48 และ 6.18 ต่อ 1,000 คน-ปี ตามลำดับ และมีผู้มีภาวะก่อนเป็นเบาหวานรายใหม่เท่ากับ 994 และ 335 คน คิดเป็นอัตราอุบัติการณ์ 53.43 และ 50.74 ต่อ 1,000 คน-ปี ตามลำดับ เมื่อควบคุมปัจจัยรบกวนทั้งหมด พบว่า ผู้ชายที่ทำงานกะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวานสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ทำงานกะ 2.98 เท่า (95% CI: 1.58, 5.62) และ 1.86 เท่า (95% CI: 1.43, 2.41) ตามลำดับ ขณะที่ในผู้หญิงความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ค่อยชัดเจน การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการทำงานกะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวานโดยเฉพาะในเพศชาย การศึกษาในอนาคตควรเน้นศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุและกลไกของความสัมพันธ์ดังกล่าวเพื่อหาแนวทางในการป้องกันต่อไป