Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลจากการใช้เครื่องมือประเมินด้านการยศาสตร์ระหว่าง Rapid Entire Body Assessment (REBA) และ Quick Exposure Check (QEC) และความสัมพันธ์ระหว่างผลจากการใช้เครื่องมือทั้งสองกับอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อที่พบ รูปแบบการศึกษาเป็นการศึกษาเชิงพรรณา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง เก็บข้อมูลจากพนักงานที่ปฏิบัติงานในโรงงานเหล็กแห่งหนึ่งจำนวน 296 ราย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามแบบตอบด้วยตนเองและแบบบันทึกข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล มีการเปรียบเทียบผลการใช้เครื่องมือด้วย weighted kappa และวิเคราะห์ความความสัมพันธ์ระหว่างผลการประเมินด้วยเครื่องมือทั้งสองกับอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ นอกจากนี้มีการใช้สถิติ Fisher’s exact test และ crude odds ratio โดยกำหนดช่วงความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95
ผลการศึกษาพบว่า ความสอดคล้องของผลการใช้เครื่องมือระหว่าง REBA และ QEC พบว่าอยู่ในระดับน้อยและพอใช้ โดยมีค่า weighted kappa อยู่ระหว่าง 0.02-0.27 พนักงานรายการอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อในกลุ่มตัวอย่างในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา มีความชุกร้อยละ 69.01 และร้อยละ 50.51 ของผู้ที่มีอาการผิดปกติ ได้รับผลกระทบต่อการทำงานจากอาการผิดปกติดังกล่าว เมื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องมือทั้งสองและอาการผิดปกติ ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างผลจากการใช้เครื่องมือ REBA กับอาการผิดปกติ แต่พบความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนรวมของเครื่องมือ QEC กับอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ การศึกษาเพิ่มเติมต่อเนื่องจากการศึกษานี้ที่น่าสนใจได้แก่ การศึกษาในโรงงานเหล็กอื่นและอุตสาหกรรมอื่น ตลอดจนการเปรียบเทียบผลการใช้เครื่องมือกับ direct method