Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณลักษณะของพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น (PRP) ความสามารถในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ และประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม เพศหญิงจำนวน 40 ราย โดยพบว่า PRP ที่เก็บได้มีปริมาณ เกล็ดเลือดมากกว่าค่าเฉลี่ยในเลือดประมาณ 2 เท่า และมีปริมาณ IL-1, IL-2, IL-5, IL-7, IL-8, IL-9, IL-12, IL-17, IFN-γ, TNF-α, IP-10, MIP-1β, bFGF, VEGF และ PDGF-BB สูงกว่าในพลาสมาอย่างมีนัยสำคัญ แต่ปริมาณของ IL-10 ใน PRP ต่ำกว่าในพลาสมาอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อทำการทดสอบทางห้องปฏิบัติการพบว่า เซลล์กระดูกอ่อนและเซลล์เยื่อบุข้อของผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมที่เลี้ยงในอาหารเลี้ยงเซลล์ที่ผสม PRP มีอัตราการเจริญเพิ่มจำนวนและอัตราการเจริญเคลื่อนตัวมากกว่าเซลล์ที่เลี้ยงในอาหารเลี้ยงเซลล์ที่ผสมพลาสมา ซึ่งอาจเป็นผลมาจากจำนวนเกล็ดเลือดที่อยู่ใน PRP มากกว่าพลาสมา ประมาณ 2 เท่า ทำให้ใน PRP มีปริมาณ growth factors และ cytokines มากกว่า รวมถึงการให้ PRP อย่างต่อเนื่องส่งผลให้เซลล์ทั้ง 2 ชนิดมีการเจริญเพิ่มจำนวนมากกว่าเซลล์ที่ได้รับพลาสมา อย่างเห็นได้ชัด และยังพบว่าเซลล์กระดูกอ่อนที่เลี้ยงในอาหารเลี้ยงที่ผสม PRP มีการแสดงออกยีนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพัฒนาของเซลล์กระดูกอ่อน (SOX9, aggrecan และ COL2A1 ) มากกว่าในเซลล์ที่เลี้ยงในพลาสมา และเซลล์เยื่อบุข้อที่เลี้ยงในอาหารเลี้ยงที่ผสม PRP ก็มีการแสดงออกยีนประเภท proinflammatory cytokines (IL-1β, IL-6 และ MMP-13) ซึ่งบ่งชี้ถึงการอักเสบน้อยกว่าในเซลล์ที่เลี้ยงในพลาสมา นอกจากนี้เมื่อทำการทดสอบทางคลินิกโดยการฉีด PRP เข้าข้อเข่าแล้วทำการประเมิน VAS score ประเมินสมรรถภาพทางกาย (Sit to Stand test, Time Up and Go test and 3 minute walk test) รวมถึงการประเมินด้วยชุดคำถาม WOMAC score ซึ่งมีความจำเพาะต่อการประเมินผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ