Abstract:
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผลเชิงบวกของมิติด้านจิตวิญญาณต่อสุขภาพจิตได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้นจากการศึกษาและงานวิจัยต่าง ๆ แต่เนื่องด้วยลักษณะเฉพาะที่แตกต่างของความเชื่อและวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ทำให้การศึกษาเรื่องจิตวิญญาณเป็นเรื่องที่ท้าทาย การวิจัยนี้มุ่งหวังที่จะศึกษาทรรศนะด้านจิตวิญญาณและผลกระทบของมิติด้านจิตวิญญาณต่อสุขภาพจิตในกรอบทรรศนะของจิตแพทย์ไทย โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative study) ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งมีโครงสร้าง (semi-structured in-depth interview) อ้างอิงคำถามสัมภาษณ์จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง และศึกษาในกลุ่มตัวอย่างจิตแพทย์จากทุกภูมิภาคของประเทศไทยจำนวน 20 ราย วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) จากการถอดคำสัมภาษณ์แบบคำต่อคำ (verbatim)
ผลการศึกษาพบว่าจิตแพทย์ไทยให้นิยามคำว่า ‘จิตวิญญาณ’ เป็นเรื่องของความเชื่อ สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ความหมายของชีวิต เรื่องเหนือตัวตน และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในบริบทของศาสนา โดยจิตแพทย์ใช้ประเด็นด้านจิตวิญญาณในการวิเคราะห์และการดูแลรักษาผู้ป่วยใน 5 ด้านหลัก คือ 1) เรื่องความปกติ 2) เรื่องการทำหน้าที่ 3) เรื่องความสงบสุขทางใจ 4) เรื่องวิธีการคิด 5) เรื่องจริยธรรม จิตแพทย์ไทยมีทรรศนะเชิงบวกต่อมิติด้านจิตวิญญาณในบริบทของจิตเวชศาสตร์ โดยพบทั้งผลเชิงบวกและผลเชิงลบของมิติด้านจิตวิญญาณที่มีต่อสุขภาพจิต ซึ่งผลลัพธ์จะขึ้นอยู่กับบุคคลและบริบทที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางจิตวิญญาณนั้น ๆ จิตแพทย์ไทยใช้เกณฑ์ในการประเมินผลของมิติด้านจิตวิญญาณแบบเดียวกับเกณฑ์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ซึ่งพิจารณาจากผลกระทบที่มีต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และความเครียดที่เกิดขึ้นเป็นหลัก และมีความเห็นว่าบุคลากรด้านสุขภาพจิตควรให้ความใส่ใจกับมิติด้านจิตวิญญาณ การนำมิติทางด้านจิตวิญญาณมาใช้อย่างระมัดระวังและรอบคอบจะช่วยให้เกิดประโยชน์อย่างมากในการดูแลทางสุขภาพจิตทั้งต่อผู้ป่วย บุคคลทั่วไป และต่อตัวบุคลากรด้านสุขภาพจิตเองด้วย