Abstract:
ที่มาของปัญหา ปัจจุบัน การใช้ VA ECMO ในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะช็อคจากหัวใจที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น (cardiogenic shock) เป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยเครื่อง VA ECMO ทำให้คนไข้มีโอกาสที่จะรอดชีวิตมากขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตของคนไข้ยังสูง ในขณะที่การใช้ VA ECMO มีค่าใช้จ่ายสูง ใช้ทรัพยากรมากและมีข้อจำกัดอื่นๆ การพิจารณาให้คนไข้รับการรักษาด้วยการใส่ VA ECMO ควรเลือกผู้ป่วยให้เหมาะสม บทวิจัยนี้จะวิเคราะห์อัตราการรอดชีวิตในโรงพยาบาลและปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการรอดชีวิตในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด ผลการวิจัยจะเป็นข้อมูลชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่ควรพิจารณา เพื่อเลื่อกคนไข้ในการรักษาด้วย VA ECMO ได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์ การศึกษาอัตราการรอดชีวิตในโรงพยาบาลของผู้ป่วยที่ใส่ VA ECMO และปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการรอดชีวิต เป็นบทศึกษาเพื่อชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่ควรพิจารณาก่อนรับคนไข้เข้าใช้เครื่อง VA ECMO เพื่อที่จะได้คนไข้ที่เหมาะสม และสามารถนำสู่โอกาสการรอดชีวิตได้มากขึ้น
รูปแบบงานวิจัยและผลการวิจัย งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาผู้ป่วยที่ได้รับการทำ VA ECMO แบบติดตามข้อมูลย้อนหลัง โดยเก็บข้อมูลจากเวชระเบียนในโรงพยาบาล ในระหว่างปี 2555-2562 บทศึกษาหลักคือดูอัตราการอยู่รอดของคนไข้จนสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ แล้วเก็บข้อมูลปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราการอยู่รอดจนสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ นำข้อมูลมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของตัวแปรโดยการวิเคราะห์ การวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติค (univariate and multivariate logistic regression) ผลการศึกษาโดยวิธี univariate regression พบว่า ผู้ป่วยได้รับการใส่ VA ECMO มี 81 คน รอดชีวิต 20 คน คิดเป็นอัตราการรอดชีวิต 24.69% ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการรอดชีวิต ได้แก่ การบีบตัวผนังห้องซ้าย ( LVEF) , ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล, ระยะเวลาใส่ VA ECMO, Glasgow Coma Scale , ขนาดยานอร์อิพิเนฟริน, ระดับความเข้มข้นโซเดียมในเลือด, ความดันคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดแดง ( ABG CO2), lactate ก่อนใส่ VA ECMO และอัตราการเสียชีวิตโดยคาดคะเนจากคะแนน APACHE2, และ SOFA เมื่อนำปัจจัยต่าง ๆ เข้าสู่การวิเคราะห์โดยวิธี Multivariate regression พบว่า PaCO2 และ lactate เป็นตัวแปรอิสระที่สามารถอธิบายผลของการรอดชีวิตได้ (odd ratio = 0.91; 95% CI; 0.85-0.98 and 0.90; 95% CI; 0.81-0.99, ตามลำดับ)
บทสรุป คนไข้ที่ใส่ VA ECMO ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีอัตราการอดชีวิต ที่ 24.69% ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออัตราการรอดชีวิต คือ PaCO2 และ lactate ในเลือด