Abstract:
ที่มาและวัตถุประสงค์: แม้ว่าเคยมีรายงานความสัมพันธ์ระหว่างภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea) หรือภาวะ OSA กับโรคลำไส้แปรปรวน แต่ยังไม่มีการศึกษากลไกทางสรีรวิทยาของการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ในภาวะนี้ เราจึงตั้งเป้าหมายเพื่อศึกษาความแตกต่างของการบีบตัวลำไส้ใหญ่ระหว่างผู้ป่วยภาวะ OSA และกลุ่มสุขภาพแข็งแรง
วิธีการวิจัย: คัดกรองอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะ OSA โดยใช้แบบสอบถาม STOP-Bang และอาสาสมัครสุขภาพแข็งแรงเข้าร่วมงานวิจัย ทำตรวจการบีบตัวของลำไส้ใหญ่พร้อมกับการตรวจการนอนหลับช่วงกลางคืนและนำข้อมูลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม
ผลการวิจัย: ผู้ป่วยจำนวน 6 คน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะ OSA จากเกณฑ์ดัชนีหยุดหายใจและหายใจแผ่วเบาอย่างน้อย 10 และอาสาสมัครสุขภาพแข็งแรงอีกจำนวน 6 คนมีดัชนีดังกล่าวน้อยกว่า 10 ข้อมูลพื้นฐานผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกันยกเว้นอายุ ดัชนีหยุดหายใจและหายใจแผ่วเบาในกลุ่ม OSA มีค่าสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (20.8 ± 7.3 ต่อ 5 ± 3.2, p< 0.05) ในขณะที่ค่าตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับนั้นไม่มีความแตกต่างกันระหว่างประชากรสองกลุ่ม ดัชนีการบีบตัวรวมของทุกส่วนของลำไส้ใหญ่ของกลุ่ม OSA มีค่าสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (317.0 ± 114.1 ต่อ 198.3 ± 32.0 มิลลิเมตรปรอท*วินาทีต่อนาที p = 0.05) จากการวิเคราะห์สหสัมพันธ์พบว่ามีเพียงดัชนีหยุดหายใจและหายใจแผ่วเบาที่มีความเกี่ยวข้องกับค่าดัชนีการบีบตัวที่สูงขึ้น (r = 0.67, p = 0.02)
สรุปผลการวิจัย: ผู้ป่วยภาวะ OSA มีการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ในระหว่างการนอนหลับมากกว่าอาสาสมัครสุขภาพแข็งแรงและจำนวนการตื่นเร้าไม่มีผลต่อการบีบตัวของลำไส้ใหญ่