Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อทดสอบความเทียงตรงและความเชื่อมั่นด้วยการสอบซ้ำของแบบสอบถามคะแนนรวมอาการผิดปกติระบบประสาทอัตโนมัติฉบับภาษาไทย (Composite Autonomic Symptom Score 31, Thai-COMPASS 31)
วิธีการวิจัย ผู้วิจัยขออนุญาตและแปลแบบสอบถาม COMPASS 31 ฉบับภาษาอังกฤษต้นฉบับเป็นภาษาไทย (Thai-COMPASS 31) ที่มีความทัดเทียมเชิงเนื้อหาและวัฒนธรรม แล้วนำมาทดสอบกับผู้ป่วยโรคเส้นประสาทอัตโนมัติพิการที่มีอาการคงที่และได้ตรวจระบบประสาทอัตโนมัติทางห้องปฏิบัติการครบถ้วนภายในระยะเวลา 12 เดือน และมีคะแนนรวม Composite Autonomic Severity Score (CASS) ตั้งแต่ 1 คะแนนขึ้นไป ผู้เข้าร่วมวิจัยตอบแบบสอบถาม Thai-COMPASS 31 ฉบับเดิมด้วยตนเอง 2 ครั้งห่างกัน 2 สัปดาห์ ผู้วิจัยทดสอบความเที่ยงตรงของคะแนนรวม Thai-COMPASS 31 ครั้งที่ 1 และคะแนนรวม CASS ในผู้ป่วยจำนวน 47 คน และทดสอบความเชื่อมั่นด้วยวิธีสอบซ้ำด้วยคะแนนรวม Thai-COMPASS 31 ทั้ง 2 ครั้ง กับผู้ป่วยจำนวน 42 คน และเปรียบเทียบคะแนนรวม Thai-COMPASS 31 ครั้งที่ 1 ในแต่ละกลุ่มย่อยของลักษณะประชากรพื้นฐาน
ผลการศึกษา คะแนนรวม CASS มีความสัมพันธ์ทางบวกกับคะแนนรวม Thai-COMPASS 31 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (rs = 0.347; p<0.05) คะแนนรวม Thai-COMPASS 31 ทั้ง 2 ครั้งมีความสัมพันธ์กันทางบวกระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (rs = 0.801; p<0.001) ค่ามัธยฐานเวลาที่ใช้ตอบแบบสอบถามเท่ากับ 7 นาที (IQR: 6,8) และไม่พบว่าคะแนนรวม Thai-COMPASS 31 มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ระหว่างกลุ่มย่อยลักษณะประชากรพื้นฐาน
สรุป การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าแบบสอบถาม Thai-COMPASS 31 มีความเที่ยงตรงเมื่อเทียบกับคะแนนรวม CASS ซึ่งเป็นตัววัดมาตรฐาน และมีความเชื่อมั่นเมื่อทดสอบซ้ำ คะแนนรวม Thai-COMPASS 31 สามารถนำไปใช้กับประชากรไทยทั่วไปที่มีโรคเส้นประสาทอัตโนมัติพิการได้