Abstract:
ฮิวแมนโรต้าไวรัสสายพันธุ์ A (Human Rotavirus A) เป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันหรือท้องเสียในเด็กทารกและเด็กเล็กทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี อีกทั้งยังเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทยอีกด้วย ในงานวิจัยครั้งนี้จึงมีจุดประสงค์ที่จะศึกษาระบาดวิทยาของเชื้อโรต้าไวรัสในประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 ถึง 2562 โดยทำการเก็บตัวอย่างจากอุจจาระของผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการท้องเสียระหว่างเดือนมกราคม ปีพ.ศ. 2559 ถึง เดือนธันวาคม ปีพ.ศ.2562 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,001 ตัวอย่าง การตรวจวินิจฉัยฮิวแมนโรต้าไวรัสสายพันธุ์ A ใช้เทคนิค real-time PCR ผลการวิจัยพบตัวอย่างที่ให้ผลบวกต่อเชื้อโรต้าไวรัสจำนวน 301 ตัวอย่าง (15.0%) กลุ่มอายุผู้ป่วยติดเชื้อโรต้าไวรัสพบมากในช่วงอายุ 0 ถึง 2 ปี โดยอัตราการติดเชื้อโรต้าไวรัสพบมากในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย จากการจัดจำแนกสายพันธุ์พบว่า สายพันธุ์โรต้าไวรัสที่พบมากที่สุด คือ สายพันธุ์ G3P[8] (33.6%, 101/301), รองลงมาคือ G8P[8] (10.6%, 32/301), G9P[8] (6.3%, 19/301), G2P[4] (6.0%, 18/301) และ G1P[6] (5.3%, 16/301) ตามลำดับ นอกจากนี้ยังตรวจพบโรต้าไวรัสสายพันธุ์ที่พบได้น้อยในคน อาทิ G2P[8], G3P[4] และ G9P[4] เมื่อทำการวิเคราะห์ในเชิง genetic backbone พบว่า DS-1-like G3P[8] เป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุด (28.2%, 85/301) ผลการวิเคราะห์ phylogenetic tree แสดงให้เห็นว่า DS-1-like G3P[8] ที่พบในประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมใกล้ชิดกับ DS-1-like G3P[8] ที่พบในประเทศอื่น ๆทั่วโลก ดังนั้นความเกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมของเชื้อโรต้าไวรัสที่พบในประเทศไทยและต่างประเทศควรมีการศึกษาต่อไป เพื่อเป็นประโยชน์ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรต้าไวรัสและการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาดของโรคในอนาคตต่อไป