Abstract:
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาหน้าที่ทางสังคม ทักษะทางสังคมและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ทางสังคมของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มารับการรักษา แผนกผู้ป่วยนอก จิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิธีการศึกษา : การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา โดยดำเนินการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มารับการรักษา แผนกผู้ป่วยนอก จิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 150 ราย ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัย DSM-5 ของโรคซึมเศร้าหลัก หรือโรคซึมเศร้าเรื้อรัง หรือโรคซึมเศร้าสองชนิดทับซ้อนกัน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง ธันวาคม 2563 โดยให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถาม 5 ฉบับ ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบประเมินอาการซึมเศร้าฉบับภาษาไทย 3) แบบวัดทักษะทางสังคม 4) มาตรวัดการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น และ 5) แบบประเมินหน้าที่ทางสังคมฉบับภาษาไทย และผู้วิจัยกรอกแบบกรอกข้อมูลทางการแพทย์ ทำการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ทางสังคมและทักษะทางสังคมของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยใช้สถิติทดสอบไคสแควร์ และทำการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติกเพื่อหาปัจจัยทำนายความบกพร่องของหน้าที่ทางสังคม โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่น้อยกว่า 0.05
ผลการศึกษา : ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่ (ร้อยละ 65.3) มีความบกพร่องของหน้าที่ทางสังคม โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยของหน้าที่ทางสังคมเท่ากับ 11.37±4.14 ส่วนใหญ่มีทักษะทางสังคมอยู่ในระดับปานกลาง ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับความบกพร่องของหน้าที่ทางสังคม ได้แก่ การมีระดับทักษะทางสังคมต่ำมาก ถึง ต่ำ (p < 0.01) การมีโรคประจำตัวทางกาย (p < 0.05) การใช้สารเสพติด (p < 0.05) และความรุนแรงของโรคซึมเศร้าในระดับรุนแรง (p < 0.01) ปัจจัยทำนายความบกพร่องของหน้าที่ทางสังคมของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มารับการรักษา แผนกผู้ป่วยนอก จิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ ได้แก่ การมีโรคประจำตัวทางกาย (p < 0.01) ความรุนแรงของโรคซึมเศร้าในระดับรุนแรง (p < 0.01) และการมีระดับทักษะทางสังคมต่ำมาก ถึง ต่ำ (p < 0.01)
สรุปผลการศึกษา : ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่ (ร้อยละ 65.3) มีความบกพร่องของหน้าที่ทางสังคม และส่วนใหญ่มีทักษะทางสังคมอยู่ในระดับปานกลาง มีการรับรู้ความรู้สึกผู้อื่นในระดับสูง และพบว่าการมีโรคประจำตัวทางกาย ความรุนแรงของโรคซึมเศร้าในระดับรุนแรง และการมีระดับทักษะทางสังคมต่ำมาก ถึง ต่ำ เป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องของหน้าที่ทางสังคมของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า