Abstract:
การระรานทางไซเบอร์ เป็นปัญหาสำคัญในวัยเรียนที่เกิดขึ้นเมื่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน การเข้าถึงได้โดยไม่ต้องระบุตัวตนในสื่อสังคมออนไลน์ส่งผลให้การกลั่นแกล้งรังแกกันสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และสุขภาพจิตของนิสิตได้ การวิจัยครั้งนี้มีรูปแบบการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อศึกษาความชุกของการระรานทางไซเบอร์ คุณภาพชีวิตด้านจิตสังคม และสุขภาวะทางจิตในนิสิตชั้นปีที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการระรานทางไซเบอร์ คุณภาพชีวิต กับสุขภาพจิตของนิสิตชั้นปีที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเก็บรวมรวมข้อมูลจากนิสิตในปีการศึกษา 2563 จำนวน 1433 คน โดยใช้เครื่องมือ 1) แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป 2) Cyber-Aggression Perpetration and Victimization Scale ฉบับภาษาไทย 3) แบบวัดคุณภาพชีวิตด้านจิตสังคม (CU student psychological well-being revised 2020) และ 4) แบบวัดสุขภาพจิตในคนไทย ฉบับปรับปรุง โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (The Thai Mental Health Questionnaire : TMHQ : CU-modified short form) สถิติที่ใช้ได้แก่ วิเคราะห์สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย มัธยฐาน ค่าสู่งสุด ค่าต่ำสุด ส่วนเบี่ยงเบนมตราฐาน การทดสอบ Chi-Square และ การวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติก (Multiple Logistic Regression Analysis) ผลการศึกษาพบว่า นิสิตส่วนใหญ่เคยถูกระรานทางไซเบอร์ (52.7%) มีคุณภาพชีวิตด้านจิตสังคมในระดับกลาง (46.5%) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35.55 และ S.D. เท่ากับ 6.94 โดยส่วนมากไม่พบปัญหาสุขภาพจิต (55.8%) เมื่อวิเคราะห์การถอดถอยพหุคูณพบว่าปัจจัยทำนายที่สัมพันธ์กับสุขภาพจิตได้แก่ การเคยถูกระรานทางไซเบอร์ (p<0.01) คุณภาพชีวิตด้านจิตสังคมในระดับต่ำ (p<0.01) เพศหญิง (p<0.01) คณะ (p<0.05) ศาสนาอื่น ๆ นอกเหนือจากศาสนาพุทธ (p<0.05) ความไม่เพียงพอของค่าใช้จ่าย (p<0.05) ความชอบในสาขาวิชาน้อย (p<0.05) การเคยพบเพื่อนที่มีปัญหาสุขภาพจิต (p<0.01) จึงสรุปได้ว่า นิสิตที่เคยถูกระรานทางไซเบอร์จะมีโอกาสมีคุณภาพชีวิตด้านจิตสังคมในระดับต่ำ และมีโอกาพบปัญหาสุขภาพจิตได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยถูกระรานทางไซเบอร์