Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใด เวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเครียดจากการทำงาน และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดจากการทำงานของพยาบาลวิชาชีพ สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กลุ่มตัวอย่าง คือ พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ จำนวน 133 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามความเครียดในการทำงาน แบบสอบถามปัจจัยที่สัมพันธ์กับความเครียดด้านการทำงาน และแบบประเมินการสนับสนุนทางสังคมของพยาบาลวิชาชีพ
ผลการศึกษาพบว่า พยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 97 อายุเฉลี่ยอยู่ในช่วง 41-50 ปี ร้อยละ 47.4 มีความเครียดจากการทำงานในระดับต่ำ ร้อยละ 60.9 ผู้ที่มีความเพียงพอของรายได้พบความเครียดจากการทำงานต่ำกว่าผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.01) ปัจจัยด้านการทำงานมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับปานกลางกับความเครียดจากการทำงาน ได้แก่ ปัจจัยด้านบทบาทหน้าที่ในองค์กร (r = 0.489, p < 0.001) ด้านสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (r = 0.468, p < 0.001) ด้านลักษณะองค์กร (r = 0.424, p < 0.001) ด้านลักษณะงานและภาระงาน (r = 0.420, p < 0.001) ด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน (r = 0.409, p < 0.001) ด้านโอกาสความก้าวหน้าและขวัญกำลังใจ (r = 0.401, p < 0.001) ด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการ (r = 0.376, p < 0.001) และปัจจัยระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว (r = 0.355, p < 0.001) ปัจจัยการสนับสนุนทางสังคมที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดจากการทำงาน ได้แก่ ปัจจัยการสนับสนุนด้านการช่วยเหลือในการทำกิจกรรมฯ (r = -0.341, p < 0.001) การสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสาร (r = -0.315, p < 0.001) และการสนับสนุนด้านอารมณ์ (r = -0.287, p < 0.01)
ปัจจัยด้านบทบาทหน้าที่ในองค์กร (Beta = 0.43) การสนับสนุนทางสังคมด้านอารมณ์ (Beta = -0.19) และความเพียงพอของรายได้ (Beta = -0.17) สามารถร่วมทำนายความเครียดจากการทำงานได้ร้อยละ 30 (R2 = 0.30, p < 0.05)
ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลในการป้องกันความเครียดจากการทำงานของพยาบาลวิชาชีพ จากการมีบทบาทหน้าที่ในองค์กรอย่างเหมาะสม การเพิ่มระดับการสนับสนุนทางสังคมด้านอารมณ์ของพยาบาลวิชาชีพ เพื่อลดความเครียดในการปฏิบัติงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานต่อไป