Abstract:
บทนำ: ภาวะความดันโลหิตที่ไม่ลดลงช่วงกลางคืนเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในปัจจุบันและมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในกลุ่มประชากรทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ แต่ข้อมูลในผู้ป่วยเอชไอวีที่ได้รับการรักษาและตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในเลือดนั้นยังมีน้อย
ระเบียบวิธีการทำวิจัย: การศึกษานี้เป็นการเก็บรวมรวมข้อมูลภาวะความดันโลหิตที่ไม่ลดลงช่วงกลางคืน ด้วยเครื่องวัดความดันโลหิตชนิดติดตัวพร้อมวัดอัตโนมัติ (Ambulatory Blood Pressure Monitoring) เป็นเวลา 24 ชั่วโมงในผู้ป่วยเอชไอวีที่ได้รับการรักษาและตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในเลือด (VL < 50 copies/ml) มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยหรือรับการรักษาโรคความดันโลหิตสูง (ความดันโลหิตคลินิคน้อยกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท) โดยไม่มีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือกำลังตั้งครรภ์ โดยจัดทำที่ศูนย์ประสานความร่วมมือระหว่าง ไทย-ออสเตรเลีย-เนเธอร์แลนด์ เพื่อการวิจัยทางคลินิกด้านโรคเอดส์ (HIV-NAT) และศึกษาเพิ่มว่าปัจจัยใดมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดภาวะความดันที่ไม่ลดลงช่วงกลางคืน รวมถึงความชุกในการเกิดความดันชนิด Masked hypertension
ผลการศึกษา: จากการรวมรวมข้อมูล 54 คนในการวิจัยพบว่า อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยเท่ากับ 54 ปี มีผู้ป่วยเพศหญิง 33 คน (61.3%) มีภาวะไขมันในโลหิตสูง 33 คน (61.1%) ดัชนีมวลกายเฉลี่ยของผู้ป่วยเท่ากับ 22 kg/m2 มีระยะเวลาทานยาต้านไวรัสเฉลี่ย 22 ปี มีค่า CD4 เฉลี่ยเท่ากับ 563 cell/mm3 และผู้ป่วยทุกคนตรวจพบไวรัสในเลือด น้อยกว่า 50 copies/ml หลังติดเครื่องวัดความดันโลหิตชนิดติดตัวพร้อมวัดอัตโนมัติ พบว่าจำนวนการวัดความดันโลหิตสำเร็จตลอด 24 ชั่วโมงเท่ากับ 85.2% มีผู้ป่วยตรวจพบภาวะความดันโลหิตที่ไม่ลดลงช่วงกลางคืนเท่ากับ 25 คน (46%) และตรวจไม่พบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตโลหิตที่ไม่ลดลงช่วงกลางคืน ตรวจพบความดันโลหิตชนิด Masked hypertension จำนวนทั้งหมด 13%
ข้อสรุป: การตรวจพบภาวะความดันโลหิตที่ไม่ลดลงในช่วงเวลากลางคืนในผู้ป่วยเอชไอวีที่ได้รับการรักษาและตรวจไม่พบเชื้อในเลือดสามารถเจอได้มากถึงร้อยละ 46 แต่ความสัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือดยังต้องมีการติดตามผู้ป่วยกลุ่มนี้ต่อไปในอนาคต