Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาอัตราการการลดลงของสารยูรีมิกมวลโมเลกุลขนาดกลาง ß2-microglobulin ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้ายที่ทำการฟอกเลือดแบบดั้งเดิมโดยใช้ตัวกรองรูใหญ่ปานกลาง และการฟอกเลือดเทคนิคมิกซ์ไดลูชั่นฮีโมไดอะฟิวเตรชั่นโดยใช้ตัวกรองมาตรฐาน วิธีการวิจัย การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มไขว้กลุ่มแบบไปข้างหน้า ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้ายที่ทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 3 ครั้งต่อสัปดาห์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จำนวนทั้งหมด 14 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเทคนิคมิกซ์ไดลูชั่นฮีโมไดอะฟิวเตรชั่นโดยใช้ตัวกรองมาตรฐาน และกลุ่มที่ได้รับการฟอกเลือดแบบดั้งเดิมโดยใช้ตัวกรองรูใหญ่ปานกลาง ทั้งสองกลุ่มได้รับการเก็บเลือดส่งตรวจสารยูรีมิกในทุกวันที่มาฟอกกลางสัปดาห์ทุกสัปดาห์ จนครบ 8 สัปดาห์ก่อนฟอก และหลังฟอก และนำมาหาค่าเฉลี่ยของอัตราการลดลงของสารของแต่ละเทคนิค รวมทั้งยังเก็บน้ำยาไตเทียมที่ได้จากการฟอกเพื่อนำมาหาค่าเฉลี่ยของอัลบูมินที่สูญเสีย ผลการศึกษา พบว่าการฟอกเลือดด้วยเทคนิคมิกซ์ไดลูชั่นฮีโมไดอะฟิวเตรชั่นสามารถกำจัดสารยูรีมิกมวลโมเลกุลขนาดปานกลาง ß2-microglobulin ได้มากกว่าค่าที่ส่งผลดีต่ออัตราการรอดชีวิตคือร้อยละ 80 และยังมากกว่าการฟอกเลือดแบบดั้งเดิมโดยใช้ตัวกรองรูใหญ่ปานกลาง โดยค่าเฉลี่ยของอัตราการลดลงของ ß2-microglobulin และค่าเบี่ยงเบนมัธยฐานในเทคนิคมิกซ์ไดลูชั่นฮีโมไดอะฟิวเตรชั่น และการฟอกเลือดแบบดั้งเดิมโดยใช้ตัวกรองรูใหญ่ปานกลาง เท่ากับ 85.12 ± 3.87 และ 82.57 ± 5.34 ตามลำดับ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของความแตกต่างระหว่างกลุ่มเท่ากับ 2.56 ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.001) สำหรับสารยูรีมิกมวลโมเลกุลขนาดเล็ก ขนาดกลาง และสารยูรีมิกที่จับกับโปรตีน ได้แก่ ยูเรีย, Ƙ-free light chain และอินดอกซิลซัลเฟต ไม่พบความแตกต่างของความสามารถในการกำจัดระหว่าง 2 กลุ่ม อย่างไรก็ตามสารยูรีมิกมวลโมเลกุลขนาดปานกลางที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ɑ1-microglobulin และ λ-free light chain พบว่าการฟอกเลือดแบบดั้งเดิมโดยใช้ตัวกรองรูใหญ่ปานกลางสามารถกำจัดออกได้มากกว่าการฟอกเลือดด้วยเทคนิคมิกซ์ไดลูชั่นฮีโมไดอะฟิวเตรชั่น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <0.001) โดยค่าเฉลี่ยของอัตราการลดลงของ ɑ1-microglobulin เท่ากับ 41.49 ± 11.46 และ 30.13 ± 15.90 ตามลำดับ และ λ-free light chain เท่ากับ 50.81 ± 13.18 และ 40.85 ± 13.92 ตามลำดับ ในแง่ของการสูญเสียอัลบูมินทางน้ำยาไตเทียมพบว่าการฟอกเลือดแบบดั้งเดิมโดยใช้ตัวกรองรูใหญ่ปานกลางสูญเสียอัลบูมินมากกว่าการฟอกเลือดด้วยเทคนิคมิกซ์ไดลูชั่นฮีโมไดอะฟิวเตรชั่น เท่ากับ 3.51กรัมต่อครั้ง และ0.58 กรัมต่อครั้งตามลำดับซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.025) แต่เมื่อพิจารณาแง่ของระดับอัลบูมินในเลือดพบว่าทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน สรุป การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการฟอกเลือดทั้ง 2 เทคนิคสามารถกำจัดสารยูรีมิกได้ในระดับที่เหมาะสม ดังนั้นในกรณีที่เครื่องมือฮีโมไดอะฟิวเตรชั่นไม่พร้อมใช้สามารถนำการฟอกเลือดแบบดั้งเดิมโดยใช้ตัวกรองรูใหญ่ปานกลางมาใช้ทดแทนกันได้