Abstract:
ที่มาและวัตถุประสงค์ ปัจจุบันอุบัติการณ์การเกิดกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease) และ ท้องผูก (Constipation) พบร่วมกันได้บ่อย แต่ยังไม่มีแนวทางการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างชัดเจน การที่พบสองภาวะนี้ร่วมกันนั้นยังไม่ทราบว่าแน่ชัดว่ามีความสัมพันธ์ หรือกลไกที่เกี่ยวข้องกันระหว่างภาวะกรดไหลย้อน และภาวะท้องผูกหรือไม่ วิธีการวิจัย การศึกษาวิจัยทดลองแบบไขว้และสุ่ม ในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน คือ มีอาการแสบร้อนกลางอก หรือเรอเปรี้ยว อย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์ ร่วมกับท้องผูกเรื้อรัง โดยท้องผูกมีอาการถ่ายอุจจาระ ≤ 2 ครั้ง หรือ ถ่ายลักษณะอุจจาระก้อนเล็กแข็งเป็นกระสุน รูปทรงยาวผิวตะปุ่มตะป่ำ หรือรูปทรงยาวผิวแตก (BSFS 1-3) ในช่วง 7 วัน จำนวนทั้งหมด 12 ราย อายุ 18-80 ปี โดยแบ่งกลุ่มการศึกษาเป็น 2 กลุ่ม และทำการทดลองแบบไขว้กัน โดยช่วงเวลาที่ผู้ป่วยจะเข้าร่วมแต่ละกลุ่มนั้นต้องห่างกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่เข้าการศึกษากลุ่มอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยจะได้รับการรับประทานแคปซูลที่บรรจุสารทึบรังสี จำนวน 20 ชิ้น ในวันที่ 1 ต่อมาในเช้าวันที่ 4 ของการเข้าร่วมการศึกษา จะได้รับทำการถ่ายภาพรังสีบริเวณท้อง (x-ray abdomen) หากพบว่ามีสารทึบรังสีคั่งค้าง marker ≥ 90% (≥18/20) จะยืนยันเข้าศึกษาในกลุ่มอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่ และอีกกลุ่มผู้ป่วยจะได้รับการรับประทานแคปซูลที่บรรจุสารทึบรังสี จำนวน 20 ชิ้น ในวันที่ 1 เหมือนกันและสวนอุจจาระด้วย Unison enema วันละครั้งจำนวน 4 ครั้ง ต่อมาในเช้าวันที่ 4 หากถ่ายภาพรังสีบริเวณท้องพบว่ามีสารทึบรังสีคั่งค้าง marker < 90% (<18/20) จะยืนยันเข้าศึกษาในกลุ่มไม่มีอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่ ในการศึกษาแต่ละกลุ่มอาสาสมัครจะต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนรับการตรวจ โดยจะได้รับการตรวจการขยายตัวของกระเพาะอาหาร (Gastric accommodation) ด้วยวิธี Satiety nutrition drink test หลังจากตรวจสิ้นสุด 4 ชั่วโมงต่อมาจะได้การตรวจวัดการย้อนของกรดและน้ำย่อยในหลอดอาหาร (esophageal impedance pH monitoring) โดยให้อาสาสมัครทานอาหารควบคุม 520 กิโลแคลอรี เก็บข้อมูลการไหลย้อนเข้ามาในหลอดอาหารโดยดูการเปลี่ยนแปลงความต้านทานในหลอดอาหาร (esophageal impedance) นาน 2 ชั่วโมง และตอบแบบสอบถามประเมินอาการทางเดินอาหาร ความรุนแรงของอาการระบบทางเดินอาหารส่วนต้นก่อนรับการตรวจช่วงที่งดน้ำและอาหาร และหลังจากเสร็จสิ้นการตรวจการขยายตัวของกระเพาะอาหารส่วนต้น นาน 30 นาที และเป่าลมหายใจเพื่อส่งตรวจระดับ ไฮโดรเจน และมีเทน ในช่วงงดน้ำและอาหาร เพื่อเปรียบเทียบระหว่างสองกลุ่มการศึกษา ผลการศึกษา ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนร่วมกับท้องผูกเรื้อรัง ในภาวะที่มีการค้างของอุจจาระในลำไส้ใหญ่พบว่ามีอาการทางเดินอาหารรบกวนโดยรวมที่มากกว่าโดยมีค่ามัธยฐาน 7 (3.3-8) เทียบกับกลุ่มที่ไม่มีอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่จำนวนค่ามัธยฐาน 4.5 (2.3-6) ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.04)และอาการท้องอืดเหมือนมีลมในท้องในระดับที่มากกว่าโดยมีค่ามัธยฐาน 5.5 (4-8) เทียบกับภาวะที่ไม่มีอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่มีค่ามัธยฐาน 3 (2-5) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.02) โดยในช่วงอดอาหารและก่อนทานอาหาร ไม่พบว่ามีความแตกต่างของ ระดับไฮโดรเจน และมีเทนในลมหายใจ ในกลุ่มอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่ พบว่ามีจำนวนการเกิดการไหลย้อนของของเหลวสู่หลอดอาหารในระยะเวลา 2 ชั่วโมงหลังมื้ออาหาร จำนวนค่าเฉลี่ย 10.6 (4.8) จำนวนมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่จำนวนค่าเฉลี่ย 6.3 (4.1) ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.003) ในกลุ่มอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่ หลังการทานมีอาการแสบร้อนกลางอกที่รบกวน มีค่ามัธยฐาน 2 (0-7.5) มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่จำนวนค่ามัธยฐาน 0 (0-0) ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.04) และ ในกลุ่มอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่มีการขยายตัวของกระเพาะอาหารในปริมาตรค่าเฉลี่ย 591.7 (202.1) มิลลิลิตร ซึ่งมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่ ปริมาตรค่าเฉลี่ย 516.7 (158.6) มิลลิลิตร แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.07) สรุป ภาวะที่มีอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่มีความสัมพันธ์กับจำนวนการเกิดการไหลย้อนของของเหลวสู่หลอดอาหารที่มากขึ้น มีผลต่ออาการแสบร้อนกลางอกที่รุนแรงมากขึ้น และมีการขยายตัวของกระเพาะอาหารในปริมาตรที่มากขึ้นเช่นกัน จากผลการศึกษาภาวะที่มีการค้างของอุจจาระในลำไส้ใหญ่ ในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนร่วมกับท้องผูกเรื้อรัง น่าจะเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการเกิดไหลย้อนของของเหลวสู่หลอดอาหารที่มากขึ้นในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กับการขยายขนาดของกระเพาะอาหารที่มากขึ้นหลังการรับประทาน