Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความชุกของอาการผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่าง (Musculoskeletal Discomfort; MSD) ในพระสงฆ์ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ และวิธีการดูแลสุขภาพเมื่อมีอาการ
วิธีการ ทำการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่งโดยทำการศึกษาในพระสงฆ์จังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่างเดือนมิถุนายน -ตุลาคม 2563 เลือกวัดอำเภอละ 2 วัด และพระอารามหลวง 2 วัด เชิญพระสงฆ์ทุกรูปเข้าร่วมงานวิจัย ผลลัพธ์หลัก คือความชุกของอาการ MSD เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามของ Nordic ผลลัพธ์รองคือปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และวิธีการดูแลสุขภาพเมื่อมีอาการ
ผลการศึกษา มีพระสงฆ์เข้าร่วมงานวิจัยทั้งสิ้น 400 รูป อายุเฉลี่ย 42.0±16.3 ปี มีความชุกของ MSD ในรอบ 12 เดือน เท่ากับร้อยละ 88.0 โดยพบบริเวณหลังส่วนล่างมากที่สุดร้อยละ 59.3 รองลงมาคือไหล่ อาการ MSD กระทบต่อกิจวัตรประจำวัน ร้อยละ 11.5 และทำให้ต้องหยุดปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ร้อยละ 6.5
ทำการวิเคราะห์มูลโดยใช้สถิติ unpaired t-test , Wilcoxon rank-sum สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณ และ chi-square สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพปัจจัยที่พบว่ามีอาการ MSD มากกว่าได้แก่ อายุ (p-value < 0.001) พรรษาที่บวช (p-value < 0.014) ดัชนีมวลกาย ≥ 25กิโลกรัม/ตารางเมตร (OR 2.06, 95% CI 1.13 – 3.85 ) ส่วนมากพระสงฆ์ใช้วิธีรอให้หายเองเมื่อมีอาการ MSD ร้อยละ 59.5
สรุป พระสงฆ์มีความชุกของอาการ MSD ในภาพรวมค่อนข้างสูง เกิดขึ้นกับทุกส่วนของร่างกาย ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับอาการ MSD ที่มากกว่าได้แก่ อายุ พรรษาที่บวช และดัชนีมวลกาย ≥25 กิโลกรัม/ตารางเมตร ส่วนใหญ่ใช้วิธีรอให้หายเอง ควรถวายควายรู้เกี่ยวกับ MSD ทั้งสาเหตุ และวิธีป้องกัน รักษาแก่พระสงฆ์
คำสำคัญ พระสงฆ์ สุขภาพ เจ็บป่วย อาการผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่าง