Abstract:
ที่มาและความสำคัญ : ในปัจจุบัน มีข้อมูลว่าการตรวจภาวะเหลือคงค้างของสารแกดโดลิเนียมในหัวใจจากการตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหัวใจน่าจะช่วยพยากรณ์การเกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะได้ จึงเป็นที่มาของการวิจัยนี้ที่จะหาความสัมพันธ์ของการตรวจพบภาวะเหลือคงค้างของสารแกดโดลิเนียมในหัวใจกับภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะในบริบทของประเทศไทย วิธีการวิจัย : การวิจัยนี้เป็นการศึกษาจากเหตุไปหาผลแบบย้อนหลัง ผู้วิจัยทำการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจที่มีความสามารถในการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 50 ที่มาทำการตรวจหาภาวะเหลือคงค้างของสารแกดโดลิเนียมในหัวใจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหัวใจทั้งหมด 305 คน โดยพิจารณาศึกษาร่วมกับปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ และพิสูจน์ว่าภาวะเหลือคงค้างของสารแกดโดลิเนียมในหัวใจสามารถใช้ทำนายภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะได้หรือไม่ ผลการวิจัย : อัตราการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นผลการวิจัยหลักในกลุ่มคนไข้ที่ตรวจพบภาวะเหลือคงค้างของสารแกดโดลิเนียมในหัวใจสูงกว่ากลุ่มคนไข้ที่ตรวจไม่พบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 11.5 เทียบกับร้อยละ 4.1, p = 0.024) ในการวิเคราะห์ตัวแปรเดียว แต่ไม่พบความแตกต่างนี้ในการวิเคราะห์หลายตัวแปร, และไม่พบความแตกต่างของอัตราการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นผลการวิจัยรองเนื่องจากการเกิดเหตุการณ์น้อย นอกจากนี้การวิเคราะห์ระยะปลอดเหตุการณ์ยังแสดงให้เห็นว่า กลุ่มที่ตรวจพบภาวะเหลือคงค้างของสารแกดโดลิเนียมในหัวใจมีค่าอัตราส่วนอันตรายเป็น 2.89 เท่าของกลุ่มที่ตรวจไม่พบภาวะเหลือคงค้างของสารแกดโดลิเนียมในหัวใจ (p = 0.033) ในการเกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ สรุปผลการวิจัย : ภาวะเหลือคงค้างของสารแกดโดลิเนียมในหัวใจเป็นปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัย แต่ไม่ใช่ปัจจัยอิสระ ที่สามารถนำมาใช้ทำนายภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะได้ การนำข้อมูลจากการวิจัยนี้มาใช้ทางคลินิกเพื่อช่วยในการตัดสินใจใส่เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้ายังต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป