Abstract:
ที่มา: การลดแรงดันบวกในระยะสิ้นสุดการหายใจออก(PEEP)ในผู้ป่วยทางเดินหายใจลำบากเฉียบพลันระยะฟื้นตัว(recovering ARDS) หากทำด้วยความไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดภาวะถุงลอมปอดแฟบ(lung collapse) ออกซิเจนในเลือดต่ำและหย่าเครื่องช่วยหายใจไม่สำเร็จ การวัดปริมาตรปอดที่ลดลงจากการลดแรงดันบวกระยะสิ้นสุดการหายใจออกโดยใช้เครื่องช่วยหายใจ(EELV changes) สามารถทำนายการเกิดถุงลมปอดแฟบได้ การใช้เครื่องวัดความต่างศักย์ไฟฟ้า(EIT)สามารถวัดปริมาตรปอดได้แม่นยำใกล้เคียงกับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน จึงนำมาศึกษาเพื่อใช้ในการทำนายภาวะถุงลมปอดแฟบหลังลดแรงดันบวกในระยะสิ้นสุดการหายใจออก
วิธีการศึกษา: ทำการศึกษาโดย prospective interventional study ในผู้ป่วยทางเดินหายใจลำบากเฉียบพลันระยะฟื้นตัว คือ มีค่า PF ratio ≥ 150 mmHg และ PEEP ≥ 8 cmH2O ทำการวัดปริมาตรปอดโดยใช้เครื่องช่วยหายใจ nitrogen washin-washout technique (EELV) วัดปริมาตรปอดโดยใช้เครื่องวัดความต่างศักย์ไฟฟ้า(delta EELI global) และพารามิเตอร์อื่นๆ ที่เวลา 5 นาที 30 นาที และ 120 นาที ภายหลังการลด PEEP 2 cmH2O เพื่อทำนายการเกิดถุงลมปอดแฟบ คือ SpO2 ลดลง ≥ 3% หรือ PaO2 ลดลง ≥10% ผลการศึกษาหลักคือการใช้พารามิเตอร์ของ EIT ทำนายการเกิดถุงลมปอดแฟบภายใน 120 นาทีภายหลังการลด PEEP ผลการศึกษารองคือศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการวัดปริมาตรปอดจากทั้ง 2 วิธีและพารามิเตอร์อื่นๆที่สามารถนำมาใช้ในการทำนายการเกิดถุงลมปอดแฟบได้
ผลการศึกษา: ทำการศึกษาทั้งหมด 27 หัตถการในผู้ป่วย 12 ราย ทั้งหมดมีสาเหตุจากปอดอักเสบ มีค่า PF ratio เฉลี่ย 256.5 mmHg พบการเกิดถุงลมปอดแฟบ 14 ครั้ง (51.8%) ปริมาตรปอดวัดโดย EIT (∆ EELI global) ที่เวลา 5 นาทีหลังการลด PEEP ไม่สามารถนำมาใช้ทำนายการเกิดถุงลมปอดแฟบได้ แต่ปริมาตรปอดที่วัดโดยเครื่องช่วยหายใจ (%∆EELV) ที่เวลา 5 นาทีและ 30 นาทีภายหลังการลด PEEP สามารถนำมาใช้ทำนายการเกิดถุงลมปอดแฟบได้โดยใช้จุดตัด 10% และ 7% โดยมี odd ratio 12.5 และ 7.5 ตามลำดับ ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการวัดปริมาตรปอดจาก 2 วิธี (r=0.002) ทำการวิเคราะห์ภายหลัง (post hoc analysis) พบว่า การลดความชันของกราฟการเปลี่ยนแปลงความต่างศักย์ไฟฟ้าของปอดส่วนด้านหลัง (EELI slope decline at the dorsal part of the lung) ที่เวลา 5 นาทีเป็นปัจจัยทำนายการเกิดถุงลมปอดแฟบที่ดี มีความไว 85.7% ความแม่นยำ 76.2% โดยมี odd ratio 20
สรุป: การใช้ EIT ระหว่างการลด PEEP ในผู้ป่วยทางเดินหายใจลำบากเฉียบพลันระยะฟื้นตัว การเปลี่ยนแปลงปริมาตรปอดวัดโดย ∆ EELI global ไม่สามารถนำมาใช้ทำนายการเกิดถุงลมปอดแฟบได้ และไม่มีความสัมพันธ์กับการวัดปริมาตรปอดโดยใช้เครื่องช่วยหายใจ (EELV) แต่พบว่าการลดความชันของกราฟการเปลี่ยนแปลงความต่างศักย์ไฟฟ้าของปอดส่วนด้านหลัง (EELI slope decline at the dorsal part of the lung) สามาถนำมาใช้ทำนายการเกิดถุงลมปอดแฟบได้โดยมีความไวและความแม่นยำที่ดี