Abstract:
ที่มา นิสิตแพทย์เป็นกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อวัณโรคจากผู้ป่วยในโรงพยาบาลและกลายเป็นวัณโรคชนิดมีอาการที่สามารถแพร่กระจายได้โดยเฉพาะในโรงพยาบาลของประเทศที่มีความชุกของผู้ติดเชื้อวัณโรคสูง
วัตถุประสงค์ เพื่อที่จะหาความชุกของนิสิตแพทย์ที่ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงเปรียบเทียบกันระหว่างนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 ที่เพิ่งผ่านการเรียนการสอนในชั้นปรีคลินิกและนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ที่ผ่านการสัมผัสผู้ป่วยในโรงพยาบาลมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี โดยการใช้วิธีการตรวจ QuantiFERON-TB Gold Plus (QFT-Plus) และการทดสอบวัณโรคทางผิวหนัง (Tuberculin Skin Test)
วิธีการวิจัย เป็นการศึกษาแบบตัดขวางในอาสาสมัครนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 และนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ที่กำลังศึกษาอยู่ในคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนิสิตที่สมัครใจเข้าร่วมการศึกษาจะได้รับการตรวจ QFT-Plus จากการเก็บตัวอย่างเลือด และบางส่วนของนิสิตที่เขาร่วมการศึกษาจะได้รับการทดสอบ TST หลังจากการเจาะเลือด โดยก่อนหน้าเข้าเก็บตัวอย่างนิสิตแพทย์อาสาสมัครจะต้องทำแบบสอบถามเกี่ยวกับความเสี่ยงในการได้รับเชื้อวัณโรค
ผลการศึกษา มีนิสิตสนใจเข้าการศึกษาทั้งหมด 158 คน โดยความชุกของผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงโดยวิธี QFT-Plus รวมทั้งหมดมี 10 คน คิดเป็นร้อยละ 6.3 โดยแบ่งเป็นความชุกในนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 คิดเป็นร้อยละ 9.4 และความชุกของนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 ร้อยละ 2.7 โดยไม่พบความสัมพันธ์กับเสี่ยงของการติดเชื้อวัณโรคกับปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติเมื่อทำการวิเคราะห์แบบพหุตัวแปร โดยในการศึกษานี้นิสิตส่วนมาก ร้อยละ 88 ให้ประวัติว่าเคยได้รับวัคซีน BCG ตั้งแต่เด็ก นอกจากนั้นในรายที่ให้ผลบวกจากการทดสอบ QFT-Plus และ TST ไมีมีนิสิตที่มีผลภาพรังสีปอดที่ผิดปกติ โดยจากนิสิตที่เข้าการศึกษาทั้งหมด 158 ราายมีนิสิตจำนวน 41 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.9 สมัครใจรับการทดสอบ TST โดยพบว่าหากใช้จุดตัดของ TST ตามมาตรฐานที่ตั้งแต่ 10 มิลลิเมตรขึ้นไป พบว่ามี 6 รายให้ผลบวกสอดคล้องกับ QFT-Plus และมี 4 รายที่ TST ให้ผลลบ ไม่สอดคล้องกับ QFT-Plus เมื่อคิดค่าความสอดคล้องกันระหว่างการทดสอบทั้ง 2 พบว่ามีความสอดคล้องกันในระดับปานกลาง
สรุป การตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรคในบุคลากรใหม่ที่เข้ามาทำงานในโรงพยาบาลโดยเฉพาะนิสิตแพทย์มีความสำคัญในการช่วยลดการแพร่กระจายอุบัติการของการเกิดวัณโรคติดต่อภายในโรงพยาบาล ในการศึกษานี้พบว่าในนิสิตแพทย์ปี 6 มีค่าความชุกของผู้ป่วยวัณโรคแฝง สูงกว่านิสิตแพทย์ชั้นปี 4 ดังนั้นประชากรกลุ่มนิสิตนี้จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับบเชื้อวัณโรคจากการฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาล แม้ว่าจากการศึกษานี้มีจำนวนผนิสิตที่เข้าร่วมปริมาณไม่มากจนสามารถแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของชั้นปี ที่มีผลต่อการติดเชื้อวัณโรค แต่การที่นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 มีค่าความชุกที่สูงกว่าชั้นปีที่ 4 เป็นสัญญานที่บอกถึงการให้ความสำคัญของระบบควบคุมการติดเชื้อภายในโรงพยาบาลและ การให้ความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อทางอากาศแก่บุคลากรแพทย์ใหม่ในโรงพยาบาลของประเทศที่มีความชุกของวัณโรคในประชากรทั่วไปที่สูง อย่างไรก็ตามหลังจากการคัดกรองหาผู้ติดเชื้อวัณโรคแฝงแล้วการติดตามระยะยาวในนิสิตคนเดียวกันเมื่อเวลาผ่านไปจะช่วยให้สามารถบอกอุบัติการณ์ของการติดเชื้อวัณโรคใหม่ในโรงพยาบาลได้