Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบระดับแคลเซียมบริเวณหลอดเลือดหัวใจ และลิ้นหัวใจในผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรม และผู้ป่วยที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงที่ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม
วิธีการวิจัย ผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรมวินิจฉัยจากเกณฑ์ Dutch Lipid Clinic Network (DLCN) ที่มีค่าตั้งแต่ 6 คะแนนขึ้นไป (Probable or definite familial hypercholesterolemia) และผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูงที่ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม โดยวินิจฉัยจากการที่ผู้ป่วยเคยมีระดับ LDL-c สูงสุดมากกว่า 130 มก./ดล. และคะแนน DLCN น้อยกว่า 6 คะแนน โดยนำผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มเข้ารับการตรวจวัดระดับแคลเซียมบริเวณหลอดเลือดหัวใจ และลิ้นหัวใจเอออร์ติก ด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดไม่ใช้สารทึบรังสี
ผลการศึกษา ผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูงทั้งหมด 71 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยคอเลสเตอรลสูงทางพันธุกรรม 36 ราย และผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูงที่ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม 35 ราย พบว่าผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรมมีระดับ LDL-c ก่อนการรักษา ระดับ LDL-c และ total cholesterol ในวันที่เข้าร่วมวิจัยสูงกว่า, Total cholesterol burden มากกว่า และระยะเวลาการรักษาที่นานกว่ากลุ่มควบคุม ผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรมมีระดับ Coronary artery calcium (CAC) มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (25.3 Agatston unit (AU) (0-210.2 AU) และ 0 AU (0-37.6 AU), P = 0.01) และมีสัดส่วนผู้ป่วยที่มีระดับแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจมากกว่า 0 AU มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (ร้อยละ 69.4 และร้อยละ 42.9, P = 0.02) นอกจากนี้ในผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรม ยังมีสัดส่วนผู้ป่วยที่มีระดับแคลเซียมบริเวณลิ้นหัวใจเอออร์ติกมากกว่า 0 AU มากกว่ากลุ่มควบคุม (ร้อยละ 19.4 และร้อยละ 0, P= 0.02) และมีเอ็นร้อยหวายที่หนากว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (6.2 มม. (5.00-9.03 มม.) และ 5.1 มม. (4.53-5.65 มม.), P = 0.001) ระดับแคลเซียมบริเวณหลอดเลือดหัวใจมีความสัมพันธ์กับอายุ Total LDL-c burden, ความหนาของเอ็นร้อยหวาย และคะแนนความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในคนไทย (Thai CV risk score) (R = 0.53, 0.51, 0.34 และ 0.53 ตามลำดับ, P <0.01) พบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับระดับแคลเซียมที่มากกว่า 0 AU ได้แก่ ภาวะเบาหวาน, การวินิจฉัยคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรม และ อายุ (OR 18.5, P = 0.02, OR 7.94, P <0.01 และ OR 7.26 สำหรับอายุ 49-56 ปี, OR 14.95 สำหรับอายุมากกว่า 56 ปี, P = 0.01 ตามลำดับ) ในผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรม การมีระดับ Total LDL-c burden มากกว่าหรือเท่ากับ 11,520 มก.-ปี/ดล. จะมีความสัมพันธ์กับระดับแคลเซียมบริเวณหลอดเลือดหัวใจที่มากกว่า 0 AU (OR 10.86, P = 0.041)
สรุป ผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรมมีภาวะหลอดเลือดหัวใจแข็งชนิดไม่แสดงอาการมากกว่าผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูงที่ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม โดยแสดงให้เห็นจากระดับแคลเซียมบริเวณหลอดเลือดหัวใจ และลิ้นหัวใจเอออร์ติกที่มากกว่า อีกทั้งยังพบว่าอายุ, เบาหวาน และการวินิจฉัยคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรมสัมพันธ์ระดับแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจมากกว่า 0 AU ผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรมที่มีระดับ Total LDL-c burden ที่มีค่าตั้งแต่ 11,520 มก./ดล.ขึ้นไป มีความสัมพันธ์กับระดับแคลเซียมบริเวณหลอดเลือดหัวใจที่มากกว่า 0 AU อย่างมีนัยสำคัญ