Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อหาความไวและความจำเพาะของเครื่องมือนาโนพอร์ซีเควนเซอร์ในการตรวจหายีนดื้อยาคาร์บาร์พีเนมของเชื้อเอ็นเทอโรแบคเทอเรียซีอี โดยเปรียบเทียบกับวิธีเพาะเชื้อโดยมาตรฐาน ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ วิธีการวิจัย ผู้ป่วยที่สงสัยติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นำปัสสาวะไปปั่นเพื่อลดเซลล์มนุษย์ จากนั้นนำตะกอนแบคทีเรียไปสกัดดีเอ็นเอแล้วซีเควนต่อด้วยเครื่องมือนาโนพอร์เซอร์ แล้ววิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้ผลเชื้อก่อโรคและยีนดื้อยานำมาเปรียบเทียบกับผลการเพาะเชื้อด้วยวิธีมาตรฐาน ผลการศึกษา มีเชื้อเอ็นเทอโรแบคเทอเรียซีอีทั้งหมด 60 ตัวอย่าง ประกอบด้วยเชื้อดื้อยาคาร์บาพีเนม (CRE) 28 ตัวอย่าง เชื้อที่สามารถผลิตเอนไซม์เบต้าแลคแตมเมสออกฤทธิ์ชนิดกว้าง (ESBL) 16 ตัวอย่าง และเชื้อที่ไม่ดื้อยา (non CRE/non ESBL/nonAmpcC) 16 ตัวอย่าง เครื่องมือนาร์โนพอร์ซีเควนเซอร์สามารถตรวจหาเชื้อก่อโรคและยีนดื้อยาได้ตรงกับวิธีเพาะเชื้อตามมาตรฐาน เมื่อตัดตัวอย่างที่มีดีเอ็นเอน้อยกว่า 1 ng/mcl 7 ตัวอย่างออกไปพบว่าเครื่องมือนี้มีความไวและความจำเพาะต่อการตรวจพบยีนดื้อยาคาร์บาพีเนมร้อยละ 86.9 และ 93.3 ตามลำดับ และพบว่ามีความไวและความจำเพาะต่อการตรวจพบยีนดื้อยา 3rd cephalosporin ร้อยละ 92.1 และ 60 ตามลำดับ
สรุป การตรวจหายีนดื้อยาคาร์บาพีเนมของเชื้อในกลุ่มเอ็นเทอโรแบคเทอเรียซีอีด้วยวิธีนาโนพอร์ซีเควนซิ่งมีความไวและความจำเพาะที่สูง เมื่อเทียบกับการตรวจโดยวิธีเพาะเชื้อตามมาตรฐานในผู้ป่วยที่ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โดยสามารถลดระยะเวลาในการตรวจเจอเชื้อก่อโรคและยีนดื้อยาได้ โดยใช้เวลามัธยฐาน 3.5(2.2-8.2) ชั่วโมง เพื่อที่จะสามารถพิจารณาปรับยาปฏิชีวนะได้อย่างเหมาะสมในโดสที่ 2-3 เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเกินความจำเป็นและลดโอกาสดื้อยาในอนาคตได้