Abstract:
วัตถุประสงค์ : การตรวจหาการสะสมของไขมันบริเวณเอ็นร้อยหวายด้วยการคลำมีความแม่นยำต่ำ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบขนาดและลักษณะของเอ็นร้อยหวายที่วัดโดยใช้เครื่องหนีบ ภาพถ่ายรังสี และการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ในการวินิจฉัยภาวะคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรมในผู้ป่วยไทย วิธีการศึกษา : ตรวจวัดความหนาของเอ็นร้อยหวายแต่ละข้างในตำแหน่งที่เอ็นร้อยหวายหนาที่สุดโดยใช้เครื่องหนีบ ภาพถ่ายรังสี และการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงในผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรม 51 คน ผู้ที่มีไขมันสูงที่ไม่ใช่คอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรม 51 คน และประชากรปกติ 51 คน ศึกษาลักษณะทางกายภาพของเอ็นร้อยหวายโดยคลื่นเสียงความถี่สูง และวิเคราะห์ความไวและความจำเพาะของความหนาของเอ็นร้อยหวายในข้างที่หนาที่สุดจากการวัดด้วยวิธีต่างๆในการวินิจฉัยคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรม ผลการศึกษา : การวัดความหนาของเอ็นร้อยหวายด้วยเครื่องหนีบมีความแม่นยำ 60% ความหนาของเอ็นร้อยหวายจากภาพถ่ายรังสี ≥ 7.8 มิลลิเมตร มีความไว 86% และความจำเพาะ 83% ความหนาของเอ็นร้อยหวายจากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ≥ 6.6 มิลลิเมตร มีความไว 51 % และความจำเพาะ 96% และพื้นที่หน้าตัดของเอ็นร้อยหวาย ≥ 95 ตารางมิลลิเมตร มีความไว 43 % และความจำเพาะ 98% ในการวินิจฉัยคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรม การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงพบว่าขอบเอ็นร้อยหวายที่ไม่เรียบ การเปลี่ยนแปลงลักษณะภายในของเอ็นร้อยหวายและการมีหินปูนพบได้ในผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรมมากกว่าผู้ที่มีไขมันสูงจากสาเหตุอื่นและประชากรปกติ สรุป : การวัดความหนาของเอ็นร้อยหวายด้วยเครื่องหนีบมีความแม่นยำต่ำ การวัดด้วยภาพถ่ายรังสีมีความไวสูงในขณะที่การวัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงมีความจำเพาะสูง ลักษณะทางกายภาพของเอ็นร้อยหวายที่สนับสนุนการวินิจฉัยคอเลสเตอรอลสูงทางพันธุกรรมได้แก่ การขอบเอ็นร้อยหวายที่ไม่เรียบ ลักษณะภายในผิดปกติทั่วๆ และการมีหินปูน