Abstract:
บทนำ: การรักษาโรคหืด GINA guideline แนะนำให้เพิ่มยาพ่นสเตอรอยด์ หรือเพิ่มยาพ่นไทโอโทรเปียมชนิดเรสปิแมท (TioR) ในผู้ป่วยโรคหืดที่ยังคุมอาการไม่ได้ในขั้น 4 และขั้น 5 ในประเทศไทยยาพ่นไทโอโทรเปียมชนิดแฮนด์ดิเฮเลอร์ (Tio) มีราคาถูกและสามารถเข้าถึงได้ในทุกสิทธิ์การรักษามากกว่า TioR จึงเป็นที่มาของงานวิจัยครั้งนี้ เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างการใช้ Tio และการเพิ่มขนาดของยาพ่นสเตอรอยด์ ระเบียบวิธีวิจัย: การศึกษาชนิดวิจัยเชิงทดลอง คัดเลือกผู้ป่วยโรคหืดผู้ใหญ่ที่ยังคุมอาการไม่ได้ ในขั้น 4 และ 5 สุ่มเลือกผู้ป่วยเข้ากลุ่มศึกษา 1 คือ กลุ่มที่เพิ่มยา Tio 18 ไมโครกรัมต่อวัน หรือ กลุ่มศึกษา 2 คือ กลุ่มที่เพิ่มยาพ่นบูเดโซไนด์ (Bud) 400 ไมโครกรัมต่อวัน วัตถุประสงค์หลัก เพื่อเปรียบเทียบค่าการออกแรงหายใจออกสุดที่ 1 วินาทีที่ต่ำสุด (trough FEV1) ระหว่าง 2 กลุ่มศึกษาที่ 4 และ 12 สัปดาห์ ผลการวิจัย: ผู้ป่วยทั้งหมดในการศึกษาเป็นโรคหืดชนิด type 2 phenotype ผลการศึกษาหลัก พบว่าค่าความแตกต่างของ trough FEV1 improvement ที่ 4 และ 12 สัปดาห์ ของกลุ่ม Bud มีค่ามากกว่ากลุ่ม Tio อยู่ 68.1 มิลลิลิตร (95% CI -58.1 to 194.2, P value = 0.290) และ 41.4 มิลลิลิตร (95% CI -100.5 to 183.3, P value = 0.568) ตามลำดับ สรุป: ผู้ป่วยโรคหืดที่ใช้ยาพ่นสเตอรอยด์และยาขยายหลอดลมกระตุ้นเบต้ารีเซ็ปเตอร์ชนิดออกฤทธิ์นานขนาดปานกลางหรือขนาดสูงและมี type 2 phenotype ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของ trough FEV1 improvement ระหว่าง 2 กลุ่มศึกษา