Abstract:
จุดประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบระหว่างการดูดเลือดผ่าน 1 รู และ 2 รู จากสายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลาง ชนิดหลายรูในการวินิจฉัยการติดเชื้อในกระแสเลือดที่สัมพันธ์กับสายสวนหลอดเลือดส่วนกลาง
วิธีการศึกษา : การศึกษาแบบไปข้างหน้า เก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ในผู้ป่วยที่มีอาการทางคลินิกที่สงสัยมีการติดเชื้อในกระแสเลือดที่สัมพันธ์กับสายสวนหลอดเลือดส่วนกลาง ในผู้ป่วยที่ทำการใส่สายสวนหลอดเลือดชนิดหลายรูมานานมากกว่า 48 ชั่วโมงและอยู่ในหอผู้ป่วยแผนกอายุรกรรมและศัลยกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยทำการดูดเลือด 2 ครั้ง ครั้งแรกผ่านรูที่มีรูเปิดปลายสุด และครั้งที่สองจากรูที่มีรูเปิดใกล้สุดหรือรูที่เปิดตรงกลางของสายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลางชนิด 3 รู (triple-lumen CVC) และสายสวนหลอดเลือดดำใหญ่ผ่านทางหลอดเลือดดำส่วนปลายที่ผิวหนังชนิด 2 รู (PICC) ร่วมกับทำการเจาะเลือดดำส่วนปลาย โดยใช้การวินิจฉัยตามที่สมาคมโรคติดเชื้อประเทศสหรัฐอเมริกากำหนด
ผลการศึกษา : ช่วงที่ทำการศึกษามีผู้ป่วยจำนวน 115 คน ที่มีอาการทางคลินิกที่สงสัยมีการติดเชื้อในกระแสเลือดที่สัมพันธ์กับสายสวนหลอดเลือดส่วนกลาง ประกอบด้วย 86 คน (ร้อยละ 74.8) และ 29 คน (ร้อยละ 25.2) ที่ทำการใส่สายสวนหลอดเลือดดำใหญ่ผ่านทางหลอดเลือดดำส่วนปลายที่ผิวหนังชนิด 2 รู และสายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลางชนิด 3 รู ตามลำดับ 96 คน (ร้อยละ 83.5) และ 19 คน (ร้อยละ 16.5) อยู่ในหอผู้ป่วยแผนกอายุรกรรมและศัลยกรรมตามลำดับ ในการศึกษานี้พบผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยการติดเชื้อในกระแสเลือดที่สัมพันธ์กับสายสวนหลอดเลือดส่วนกลางร้อยละ 4.34 (5 คน จากผู้ป่วย 115 คน) โดยมีอัตราการเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดที่สัมพันธ์กับสายสวนหลอดเลือดส่วนกลางเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.33 (2 คนที่มีเชื้อขึ้นจากการดูดเลือดผ่านรูที่เปิดปลายสุด เป็นร้อยละ 33.33 (จำนวนเพิ่มขึ้น 3 คนที่มีเชื้อขึ้นจากการดูดเลือดผ่านรูที่เปิดใกล้สุดและเปิดตรงกลาง) จากผู้ป่วย 15 คนที่มีเชื้อขึ้นจากการดูดเลือดผ่านสายสวนหลอดเลือดอย่างน้อย 1 รู โดยมีการปนเปื้อนจากการเก็บสิ่งตรวจร้อยละ 1.74 เชื้อที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดที่สัมพันธ์กับสายสวนหลอดเลือดส่วนกลางในการศึกษานี้ ได้แก่ Achromobacter xylosoxidans (1 คน, ร้อยละ 20) Pseudomonas aeruginosa (1 คน, ร้อยละ 20) Aeromonas sobria (1 คน, ร้อยละ 20), Candida tropicalis (1 คน, ร้อยละ 20) และ Trichosporon (1 คน, ร้อยละ 20)
สรุปผล : การศึกษานี้เป็นการศึกษาแรกชนิดไปข้างหน้า ที่แสดงเปรียบเทียบการดูดเลือดผ่าน 1 รู หรือ 2 รูในกรณีที่มีการใช้สายสวนหลอดเลือดดำชนิดหลายรูในการวินิจฉัยการติดเชื้อในกระแสเลือดที่สัมพันธ์กับสายสวนหลอดเลือดส่วนกลาง การดูดเลือดผ่านสายสวนหลอดเลือดดำจำนวน 2 รู สามารถเพิ่มการวินิจฉัยได้โดยที่ไม่เพิ่มอัตราการปนเปื้อนจากการเก็บสิ่งส่งตรวจ